จากแรงกดดันของปัญหาด้านต่างๆในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญอยู่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประชาคมโลกมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษย์ ซึ่งในปัญหาต่างๆ เหล่านี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวเรามากและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไม่ว่าจะระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกเช่น ปัญหาภาวะฝนกรด ฝุ่นละออง ควันพิษ มลพิษทางน้ำ การเติบโตที่ผิดปกติของพืชน้ำ
ภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการจับตามองอย่างมากทั่วโลก มีความพยายามของหลายประเทศทั่วโลกในการออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบ กฎหมายหรือมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรนานาชาติว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization,ISO) ได้จัดทำอนุกรมมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14000 ขึ้น เพื่อช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และช่วยส่งเสริมกระตุ้นกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นกับสังคมโลก ตัวอย่างเครื่องมือที่สำคัญของอนุกรมมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14000 ได้แก่ Eco-labeling (EL),Life cycle assessment (LCA), การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design)
มาตรฐานเหล่านี้จะเน้นที่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตลอดวัฎจักรชีวิตทำให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับประเทศไทยได้เริ่มมีการนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติเหล่านี้มาใช้กับภาคอุตสาหกรรมไทยมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังประเทศยุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่นซึ่งประเทศเหล่านี้จะให้ความสนใจและเข้มงวดต่อมาตรฐานเหล่านี้มากอันจะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าได้ ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยควรจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานทางด้านผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะช่วยรักษาตลาดการส่งออกเอาไว้ได้หรือในทางกลับกันก็อาจจะเป็นการช่วยขยายตลาดสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
เพื่อเป็นการรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้จัดการฝึกอบรมการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจและการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมภาคการศึกษา สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานได้ เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไทยอันจะนำไปสู่การขยายโอกาสทางด้านการค้า การลงทุนในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศและในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้สามารถอยู่คู่กับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
ติดต่อเจ้าของผลงานได้ที่
ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง
อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ : 0 2564 6500 ต่อ 4703
โทรสาร : 0 2564 6985
E-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน