ลูกปัดแก้วมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับและของตกแต่ง เป็นสิ่งบอกถึงอารยธรรม และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันได้พัฒนาทำรูปแบบและลวดลายที่หลากหลายแก้วที่ใช้ในการทำต้องมีสมบัติพิเศษเรียกว่า แก้วอ่อน แก้วอ่อน คือ แก้วชนิดโซดาไลม์ (Soda-limeglass) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อน (Coeffi cient of Expansion,COE) ค่อนข้างสูง เนื่องจากการขึ้นรูปเป็นลูกปัดแก้วต้องใช้วิธีพ่นด้วยเปลวไฟ ( Lampworking) จึงต้องมีความอ่อนตัว เพื่อให้ขึ้นรูปได้ง่าย ทำลวดลายได้หลากหลาย จัดเป็นกลุ่มแก้วที่เรียกว่า Art glass ของต่างประเทศที่รู้จักกันดีคือ Moretti,Bullseye เป็นต้น โดยทำเป็นแท่งแก้ว เป็นแก้วผง หรือเป็นแผ่น มีหลายสีทั้งใสและทึบแสง มีราคาสูง โดยเฉลี่ยราคาแท่งแก้วตกอยู่ที่แท่งละประมาณ 100 บาท แก้วอ่อนทำจากวัตถุดิบหลัก 3 ชนิด คือ ทราย โซดาแอช และหินปูน แต่ต้องมีสารที่ทำให้แก้วอ่อนตัวและหลอมที่อุณหภูมิปานกลาง คือ 1400-1450 องศาเซลเซียส มีทั้งเป็นแก้วใส แก้วขุ่น และสามารถเติมสารออกไซด์ให้มีสีได้ มีความแข็งปานกลางเมื่อเทียบกับแก้วชนิดอื่นๆ
กรมวิทยาศาสตร์บริการซึ่งมีกลุ่มงานที่รับผิดชอบ ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบและงานวิจัยทางด้านแก้ว มีความต้องการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงได้พัฒนาเทคนิคการทำลูกปัดแก้วลวดลายต่างๆ จนมีความชำนาญและได้เปิดอบรมเทคนิคการทำลูกปัดแก้วจากแท่งแก้วอ่อนแก่ผู้สนใจแล้วหลายครั้ง และเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ครอบคลุม ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้วิจัยเพื่อพัฒนาสูตรแก้วอ่อนและขึ้นรูปเป็นแท่งแก้ว พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตแก้วอ่อนให้แก่ผู้สนใจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมแก้วขนาดเล็กที่มีการผลิตแก้วด้วย pot furnace ซึ่งเมืองไทยมีอยู่เป็นร้อยโรงงาน ให้สามารถนำสูตรแก้วอ่อนไปผลิตในเชิงพานิช เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ต้องการทำลูกปัดแก้ว เครื่องประดับแก้วและของตกแต่งจากแก้ว ลดการนำเข้าแท่งแก้วจากต่างประเทศลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมาก
ประโยชน์
1. ลดการนำเข้าแก้วอ่อนจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงมาก
2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีเทคนิคการขึ้นรูปลูกปัดแก้ว สร้างอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้สนใจทั่วไปที่มีความรักงานศิลปะ
3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีสูตรแก้วอ่อนแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นระบบ pot furnace ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แก้วชนิดใหม่ โดยไม่ต้องปรับหรือเพิ่มเครื่องจักร
ติดต่อเจ้าของผลงานได้ที่
นางเทพีวรรณ จิตรวัชรโกมล
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
75/7 ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ : 0 2201 7368
โทรสาร : 0 2201 7373
โทรศัพท์มือถือ : 08 1721 7509
E-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน