กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก รวมเทคโนโลยีของ วท. เทคโนโลยีแปรรูปอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร

คุณภาพและความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร

พิมพ์ PDF

      กรมวิทยาศาสตร์บริการ    กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แนะนำการใช้ภาชนะบรรจุอาหารเนื่องจากคุณภาพของภาชนะที่ใช้เสี่ยงอันตรายจากโลหะปนเปื้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ในอดีตวัสดุที่นำมาใช้สัมผัสอาหารหรือใช้ทำภาชนะบรรจุอาหารส่วนใหญ่มักจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ  เช่น ใบไม้ เปลือกไม้ เปลือกหอย ซึ่งไม่มีพิษภัย ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้นสามารถผลิตวัสดุได้หลากหลาย  วัสดุสัมผัสอาหารและภาชนะบรรจุอาหารจึงมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น พลาสติก โลหะ กระดาษ เซรามิก มีคุณสมบัติและการนำไปใช้งานที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของชนิดอาหาร นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งสีสัน ลวดลายให้สวยงาม เพื่อดึงดูดผู้บริโภค แต่ผลที่ตามมาคือ อาจทำให้มีสารที่เป็นอันตราย ละลายออกจากวัสดุสัมผัสอาหาร แล้วปนเปื้อนกับอาหารที่รับประทานเข้าไป  และมีผลต่อสุขภาพ  แต่เนื่องจากสารพิษเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่มีพิษรุนแรงเฉียบพลัน แต่จะค่อยๆสะสมในร่างกาย และใช้เวลานานในการแสดงอาการ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมักละเลยหรือไม่ค่อยให้ความสำคัญ
อันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารเกิดจากสาเหตุดังนี้ 
1. วัสดุสัมผัสอาหารผลิตไม่ได้คุณภาพ เช่นการใช้สีที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหาร หรือการใช้วัสดุซึ่งไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ผลิต ทำให้มีโอกาสที่สารพิษปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ เช่น กรณีภาชนะเมลามีนปลอมซึ่งผลิตจากฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์  หรือ ยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งปกติใช้ในการผลิตปลั๊กไฟ ทำให้มีสารฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อนลงสู่อาหารในปริมาณสูง  
2. การใช้งานผิดวัตถุประสงค์ เช่นการใช้วัสดุหรือภาชนะบางอย่างซึ่งไม่ได้ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารมาใช้กับอาหาร เช่น การนำกะละมังซักผ้าซึ่งปกติมักเป็นพลาสติกเกรดต่ำ หรือพลาสติกรีไซเคิลผสมสี มาใช้ใส่หรือหมักอาหาร
3. การใช้งานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การนำอาหารที่ร้อนไปใส่ในถุงเย็น  การนำภาชนะโฟมไปใส่อาหารที่ร้อนจัด  การนำภาชนะเมลามีนไปใช้กับเตาไมโครเวฟ
4. การดูแลรักษาที่ไม่ดีพอ เช่น การทำความสะอาดภาชนะเมลามีนด้วยวัสดุทำความสะอาดที่มีความแข็งทำให้ภาชนะเป็นรอย และอาจทำให้สารฟอร์มัลดีไฮด์ แพร่กระจายออกจากตัวภาชนะลงสู่อาหาร  การทำความสะอาดวัสดุสัมผัสอาหารประเภทไม้แล้วไม่ผึ่งให้แห้งทำให้เกิดเชื้อรา
 
อันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหาร 
1.  พลาสติก ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารประเภทพลาสติกนั้นจำเป็นต้องใช้เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสารพอลิเมอร์มาผสมกับสารเติมแต่งประเภทต่างๆ เพื่อให้พลาสติกมีสมบัติเหมาะสมกับการใช้งาน แล้วขึ้นรูปเป็นภาชนะหรือวัสดุสัมผัสอาหารแบบต่างๆ ด้วยความร้อน  สารอันตรายที่อาจปนเปื้อนลงสู่อาหาร ได้แก่ สารโมโนเมอร์หรือสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพลาสติกซึ่งอาจหลงเหลือจากกระบวนการผลิต หรือการใช้งานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น สารสไตรีน (stylene) ที่ ใช้ในการผลิตกล่องโฟม สารไวนิลคลอไรด์ที่ใช้ในการผลิตฟิล์มยืดซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  สารบิสฟีนอลเอใช้ในการผลิตขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่สำหรับเครื่องทำน้ำเย็น และขวดนมเด็ก จะรบกวนการทำงานของระบบประสาทและพัฒนาการของทารก   สารฟอร์มัลดีไฮด์จากภาชนะเมลามีนทำให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากพวกสารเติมแต่งเช่น สีที่ใช้ในพลาสติกอาจมีโลหะหนักอันตรายบางชนิดเป็นส่วนประกอบเช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท และทำให้การทำงานของอวัยวะภายในผิดปกติ  สารพลาสติไซเซอร์ที่ใช้ในการผลิตฟิล์มยืดหรือประเก็นใต้ฝาโลหะสำหรับปิดขวดแก้ว เพื่อให้พลาสติกมีความยืดหยุ่น เช่น สารกลุ่มพทาเลต (phthalate) ก็จัดเป็นสารก่อมะเร็ง
2. แก้วและเซรามิก  แก้วเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีความเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยา อันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารชนิดนี้ คือโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่วและแคดเมียมซึ่งอาจปนเปื้อนมาจากกระบวนการผลิตหรือใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนเซรามิกอาจมาจากสีที่ใช้ในการวาดลวดลายเพื่อตกแต่งให้สวยงามโดยพิษของตะกั่ว คือทำให้อ่อนเพลีย ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย โลหิตจาง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ และอาการทางระบบประสาท เช่น นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำเสื่อม ส่วนแคดเมียมนั้นร่ายกายจะดูดซึมไปสะสมที่ตับ ม้ามและลำไส้ ทำให้เกิดมะเร็ง ไตทำงานผิดปกติ ปวดกระดูกสันหลัง แขนขา โรคที่เกิดจากพิษของแคดเมียมเรียกว่า โรคอิไต-อิไต (Itai Itai disease)
3. โลหะ  อันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารประเภทนี้คือ โลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับโลหะที่ใช้ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหาร พิษของโลหะหนักเหล่านี้มีผลต่อระบบประสาท และทำให้การทำงานของอวัยวะภายในผิดปกติ  ในกรณีกระป๋องโลหะเคลือบแลคเกอร์อาจมีสารบิสฟีนอล เอ (BPA)  BADGE และ อนุพันธ์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตแลคเกอร์ มีผลรบกวนการทำงานของระบบประสาทและฮอร์โมน
4.  กระดาษ   อันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารประเภทกระดาษส่วนใหญ่มาจากหมึกพิมพ์ซึ่งอาจมีโลหะหนัก หรือตัวทำละลายของสีและหมึกพิมพ์ที่ตกค้างอยู่  ในกรณีที่เป็นกระดาษที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อาจมีการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ (mineral oil) ซึ่งสามารถสะสมที่อวัยวะภายในและทำให้อวัยวะส่วนนั้นเสื่อมสภาพและหยุดการทำงาน รวมถึงสารบางกลุ่มของน้ำมันแร่ก็เป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย เช่นสารกลุ่มอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน
5. ไม้ อันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารไม้ได้แก่สารป้องกันราและแมลงซึ่งรวมถึงโลหะหนักบางชนิดซึ่งใช้เป็นองค์ประกอบในสารเหล่านี้ 
การเลือกใช้งานวัสดุสัมผัสอาหารให้ปลอดภัย
 
การเลือกใช้งานวัสดุสัมผัสอาหารให้ปลอดภัยจำเป็นต้องพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อโดยเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ ได้รับการรับรองมาตรฐาน รวมถึงการใช้งานและดูแลรักษาให้ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ฉลากเพื่อป้องกันไม่ให้สารเจือปน และสิ่งที่เป็นอันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารแพร่กระจายลงมาปนเปื้อนในอาหาร
โฟม
- ควรใช้บรรจุอาหารที่อุณหภูมิไม่เกิน 80 องศาเซลเซียสในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรใส่อาหารทอดร้อน ๆ ทันที
- ไม่ควรอุ่น หรือปรุงอาหารที่บรรจุในภาชนะโฟมด้วยเตาไมโครเวฟ
- หากจำเป็นต้องเก็บอาหารที่มีไขมัน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาชนะโฟมควรรองหรือห่อด้วยกระดาษ หรือพลาสติกชนิดที่ใช้กับอาหารประเภทไขมันได้ ก่อน
บรรจุในภาชนะโฟม
- ไม่ควรนำภาชนะโฟมที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีก
ถุงพลาสติก
- ควรซื้อถุงพลาสติกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. หรือที่มีฉลากแจ้ง
- ใช้ให้ถูกประเภท ไม่ควรนำถุงพลาสติกเย็น ไปใช้บรรจุอาหารร้อนหรืออาหารทอดร้อนจัดที่นำขึ้นจากเตาทันที
- ไม่ควรใช้ถุงพลาสติกใส่อาหารเพื่ออุ่นให้ร้อน หรือปรุงให้สุกในเตาไมโครเวฟ
- ไม่ควรนำถุงหิ้ว (ถุงก๊อปแก๊ป) มาใช้บรรจุอาหารและของร้อนโดยตรงเนื่องจากถุงชนิดนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติกชนิด LLDPE ซึ่งทนอุณหภูมิได้ไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส 
พลาสติกที่ใช้งานกับเตาไมโครเวฟ
- ควรใช้ภาชนะที่ระบุว่าสามารถใช้กับเตาไมโครเวฟเท่านั้น
- ปรุงอาหารให้สุกในภาชนะพลาสติกชนิดที่ใช้กับเตาไมโครเวฟแบบปรุงอาหารเท่านั้น ซึ่งภาชนะเหล่านี้ผลิตให้ทนความร้อนสูง ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่ออาหารเหล่านั้นมีส่วนประกอบของน้ำมันและไขมันอยู่ด้วย
- ภาชนะที่ผลิตเพื่อใช้งานเพียงครั้งเดียวแม้ว่าสามารถใช้งานกับไมโครเวฟได้ก็ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ
- ฟิล์มสำหรับใช้งานกับเตาไมโครเวฟที่ใช้ปิดภาชนะควรห่างจากอาหารอย่างน้อย 1  นิ้ว
ฟิล์มยืด
- เลือกใช้ฟิล์มยืดที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. หรือที่มีฉลากแจ้ง
- ห้ามใช้กับเตาอบหรือ ปิดภาชนะหุงต้มในการปรุงอาหาร  เนื่องจากจะทำให้ฟิล์มยืดละลายลงไปในอาหาร 
- เมื่อใช้กับเตาไมโครเวฟ เพื่ออุ่นหรือปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงระหว่างอาหารกับฟิล์ม โดยให้อยู่ 
   เหนืออาหารไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว และเลือกใช้เฉพาะฟิล์มที่แจ้งว่าสามารถใช้กับเตาไมโครเวฟเท่านั้น
-ในกรณีที่ใช้กับอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่มีแอลกอฮอล์ ต้องใช้ฟิล์มที่ผู้ผลิตยืนยันว่าใช้ได้เท่านั้น ถ้าไม่
  แน่ใจควรหลีกเลี่ยง
เมลามีน
- ควรใช้ที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. หรือที่มีฉลากแจ้งโดยอ่านฉลากให้ละเอียด ทั้งวิธีการใช้ ข้อควรระวัง และคำแนะนำ
- การใช้งานควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสของร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 95 องศาเซลเซียส หรือน้ำเดือดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการเก็บอาหารเปรี้ยว ที่มีกรดเป็นส่วนประกอบเป็นระยะเวลานาน
- ห้ามใช้งานกับเตาไมโครเวฟ
- ในการล้างทำความสะอาด ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะแข็ง เช่น ใยเหล็ก แปรงขัด แผ่นขัดที่มีผิวหยาบ เพราะจะทำให้ภาชนะเกิดรอยขีดข่วน และทำให้สารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในอาหาร ควรใช้ฟองน้ำอ่อนนิ่มในการล้างทำความสะอาดภาชนะเมลามีนทุกครั้ง
แก้ว 
-เลือกที่มีเนื้อเรียบ ไม่มีจุดนูนเล็ก ๆ หรือโพรงอากาศภายในเนื้อแก้ว
 -ไม่มีรอยร้าว เคาะแล้วมีเสียงดังกังวาน
 เซรามิก
- ภาชนะที่มีลักษณะเคลือบมีความเงา  มัน เรียบสม่ำเสมอ  ไม่มีตำหนิ  ไม่มีรอยแตกร้าว  เคาะมีเสียงกังวาน  
  ตกแต่งสีใต้เคลือบ  ทุก ๆ สีสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกับอาหารทุกประเภท  ทั้งอาหารร้อนและอาหารเย็น
- ไม่ควรใช้ภาชนะที่ตกแต่งสีและลวดลายบนเคลือบบริเวณที่สัมผัสอาหาร  หากการตกแต่งอยู่บริเวณขอบ
   ภาชนะ  เมื่อนำมาใช้งานควรระวังไม่ให้อาหารสัมผัสกับลวดลาย  โดยเฉพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดและร้อน
- ไม่ควรแช่อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดและร้อนในภาชนะที่ตกแต่งสีบนเคลือบเป็นเวลานาน
โลหะ
-เลือกใช้ภาชนะให้เหมาะสมกับชนิดของอาหารที่ต้องการปรุง เช่นควรใช้ภาชนะอลูมิเนียม หรือสเตนเลสกับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกลางไม่เปรี้ยวหรือเค็มจัดเนื่องจากอลูมิเนียมและสเตนเลสบางเกรดไม่ทนต่อการกัดกร่อนของกรดและด่าง
-กรณีที่ต้องการใช้กับอาหารที่มีรสเปรี้ยวหรือ เค็มจัด ควรใช้เป็นภาชนะโลหะเคลือบที่มีการเคลือบผิวที่เรียบ สีสันไม่ฉูดฉาด ไม่มีลวดลายภายใน
-ไม่ควรใช้ฝอยขัดหม้อในการทำความสะอาด ภาชนะโลหะเคลือบ 
-ห้ามใช้ภาชนะโลหะรวมถึงอลูมิเนียมฟอล์ยกับเตาไมโครเวฟ
กระดาษ
-ไม่ควรนำกระดาษที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารมาสัมผัสอาหารเช่น การใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษที่ถ่ายเอกสารแล้วมาทำถุงหรือรองอาหาร ซึ่งอาจทำให้มีสารพิษจากหมึกพิมพ์ปนเปื้อนลงสู่อาหาร 
ไม้
-ในการใช้งานวัสดุสัมผัสอาหารประเภทไม้เมื่อใช้งานเสร็จควรดูแลและทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง ไม่เก็บในที่อับชื้นเพื่อป้องกันการขึ้นรา
 
วัสดุสัมผัสอาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรจุและเก็บรักษาอาหาร รวมไปถึงการรับประทานอาหาร แต่วัสดุเหล่านี้ก็มีอันตรายที่แอบแฝงมาด้วยดังนั้นผู้บริโภคควรตะหนักถึงอันตรายและให้ความสำคัญในการใช้งานวัสดุสัมผัสอาหารตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อ โดยการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบ และรับรองจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแล ใช้งานให้ถูกต้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ผลิต ตลอดจนถึงการดูแลรักษาเครื่องใช้และวัสดุสัมผัสอาหารที่ถูกวิธี ก็สามารถทำให้ลดความเสี่ยงของอันตรายจากวัสดุสัมผัสอาหารลงได้ ผู้บริโภคสามารถมีความสุขกับการรับประทานได้อย่างมั่นใจในความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีที่จะได้รับจากอาหารที่รับประทาน

สอบถามข้อมูลได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สำนักงานเลขานุการกรม  กรมวิทยาศาสตร์บริการ
โทร. 0 2201 7097-8   โทรสาร 0 2201 7470  e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน   www.dss.go.th
 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» กรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น สนับสนุนผู้ประกอบการภูมิภาค
» วศ./ก.วิทย์ฯ พร้อมโชว์ผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในงานมหกรรมวิทย์ฯ ปี 2558
» กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับ OTOP กลุ่มจังหวัดภาคกลาง
» กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกรัฐแก้วิกฤติยางพารา จัดเต็มงานวิจัยใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าผลผลิต
» รมว.วท. ตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์บริการ หน่วยงานวิเคราะห์ทดสอบระดับประเทศ
» งานวิจัยสารเคลือบผิวผลไม้ยืดระยะเวลาในการสุกตัวลดการสูญเสียจากการขนส่งสินค้าในระยะเวลานาน
» วศ./ก.วิทย์ วิจัยสารเคลือบผิวผลไม้ยืดระยะเวลาในการสุกตัว
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป