กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก รวมเทคโนโลยีของ วท. เทคโนโลยีแปรรูปอาหาร กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกรัฐแก้วิกฤติยางพารา จัดเต็มงานวิจัยใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าผลผลิต

กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกรัฐแก้วิกฤติยางพารา จัดเต็มงานวิจัยใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าผลผลิต

พิมพ์ PDF

 กระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาระยะยาว

 

 

 

             วันที่ 24 ธันวาคม 2557 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายแก้ปัญหายางพารา ที่ขณะนี้มีปริมาณล้นตลาดส่งผลให้เกิดวิกฤติราคา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหนึ่งในกระทรวงฯ ที่ต้องร่วมแก้วิกฤติยางพาราด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในการแปรรูปยางพารา ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีบทบาทเป็นข้อต่อ ได้ทำการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ขณะนี้มีหลายโครงการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที


        ดร.พิเชฐ กล่าวว่า งานวิจัยที่กำลังมีการกล่าวถึงในขณะนี้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีคือ การพัฒนาลู่ลานกรีฑาด้วยยางธรรมชาติ โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)  ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่-ลานกรีฑา และพัฒนาเทคโนโลยีลู่-ลานกรีฑาให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสนับสนุนการใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติภายในประเทศ ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศเนื่องจากการสร้างลู่-ลานกรีฑารวมทั้งพื้นสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานหรือมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วัสดุสังเคราะห์สำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
            ดร.พิเชฐ กล่าวว่า งานวิจัยที่สามารถเพิ่มมูลค่ายางพารา ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกโครงการคือ งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด และการสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำยางที่ใช้ทางการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น สายสวนปัสสาวะ แผ่นยางที่ใช้ในทางทันตกรรมและท่อน้ำเกลือ พร้อมกับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายางล้อรถให้ประหยัดพลังงานมีความปลอดภัยในการยึดเกาะถนนและลดเสียงในขณะขับขี่
              ขณะที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาถุงมือผ้าเคลือบยางเพิ่มความคงทน และเพิ่มมูลค่าจากถุงมือผ้าธรรมดาราคา 10 บาท เคลือบยางมูลค่าเพิ่มเป็น 30-40 บาท และขณะนี้ วว.กำลังศึกษาการพัฒนาวัสดุยางเชิงประกอบสำหรับอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เพิ่มคุณค่ายางธรรมชาติสำหรับใช้เป็นวัสดุรองรับแรงกระแทก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการก่อสร้าง การจราจร การขนส่ง นอกจากนี้ยังสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จีโอเท็กซ์ไทล์ จากยางธรรมชาติเชิงประกอบ สำหรับการใช้เป็นชั้นกรองปิดทับหน้าตลิ่งชนิดลาดเอียง และผลิตภัณฑ์โครงสร้างปิดทับหน้าตลิ่งลาดเอียงสำหรับใช้เป็นโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง
               ด้าน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นยางพาราปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทกจากการหกล้ม โดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบและพัฒนาสูตรคอมพาวนด์ยางธรรมชาติและเทคโนโลยีการทำให้ยางสุกบางส่วน เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการอัดขึ้นรูป ได้ผลิตภัณฑ์ยางพาราปูพื้นที่มีคุณสมบัติสามารถรับแรงกระแทกสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยที่ทำให้มีอาการบาดเจ็บเมื่อเกิดการหกล้ม จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยกับผู้สูงอายุและเด็ก อีกโครงการคือ การออกแบบและพัฒนาแผ่นยางปูพื้นรถยนต์จากยางพาราผสมกัญชง โดยใช้เทคโนโลยีและการผลิตยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยกัญชง พัฒนาให้สามารถแทรกตัวและเชื่อมประสานกับผ้าทอจากกัญชง ซึ่งแผ่นยางปูพื้นรถยนต์มีสมบัติลดการเกิดไฟฟ้าสถิตย์และลดกลิ่นภายในรถยนต์ นอกจากนี้ ยังพัฒนาวัสดุตกแต่งจากน้ำยางพารา เป็นการต่อยอดมาจากโครงการเฟอร์นิเจอร์น้ำยางพารา ซึ่งได้รับการพัฒนาสูตรผสมของน้ำยางพาราจากสถาบันวิจัยยาง และนำมาพัฒนากระบวนการขึ้นรูปแบบใหม่ได้เป็นเฟอร์นิเจอร์น้ำยางพารา


             รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากยางพาราจะมีมูลค่าสูงในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตแล้ว ในการพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นเครื่องสำอางก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยน้ำยางพารามาเป็นเครื่องสำอางขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรไวท์เทนนิง ในต่างประเทศแล้ว 2 ประเทศคือ สิงคโปร์ และจีน โดย ศลช.เน้นให้ภาคเอกชนนำสารสกัดมูลค่าสูงซึ่งผลิตได้ ไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย  เช่น ได้พัฒนาสูตรตำรับ เซรั่ม และโลชั่นบำรุงผิวใส และสูตรลดเลือนริ้วรอย  ซึ่งได้มีการจำหน่ายในท้องตลาด โดยแผนการตลาดนี้จะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศได้สูง ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในระยะยาว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งเน้นที่จะเป็นข้อต่อ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตให้องค์กรและกระทรวงต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน


ข่าวโดย : ทีมโฆษก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ภาพข่าว : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นายรัฐพล หงสไกร
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» กรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น สนับสนุนผู้ประกอบการภูมิภาค
» วศ./ก.วิทย์ฯ พร้อมโชว์ผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในงานมหกรรมวิทย์ฯ ปี 2558
» กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับ OTOP กลุ่มจังหวัดภาคกลาง
» คุณภาพและความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร
» รมว.วท. ตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์บริการ หน่วยงานวิเคราะห์ทดสอบระดับประเทศ
» งานวิจัยสารเคลือบผิวผลไม้ยืดระยะเวลาในการสุกตัวลดการสูญเสียจากการขนส่งสินค้าในระยะเวลานาน
» วศ./ก.วิทย์ วิจัยสารเคลือบผิวผลไม้ยืดระยะเวลาในการสุกตัว
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป