กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดค้นพัฒนาสารเคลือบผิวผลไม้จากวัสดุที่ไม่เป็นพิษและสามารถรับประทานได้สำหรับทดแทนการใช้สารเคมีในการยืดอายุมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก เพื่อเป็นการขยายตลาดส่งออกให้แต่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงให้สามารถเก็บรักษาคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ให้ได้นานขึ้นระหว่างการขนส่ง
ในปัจจุบันการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศความชื้น หรือระยะเวลาในการสุกตัว ยังมีความจำเป็นต้องส่งออกทางเครื่องบิน หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกออกแบบพิเศษสำหรับสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดความสูญเสียอันเกิดจากการขนส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทาง การปรับปรุงกระบวนการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การใช้สารเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค สารช่วยชะลอการสุกของผลไม้ หรือการเก็บผลไม้ในระยะที่ยังไม่สุกงอมเต็มที่ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพดีจนถึงตลาดปลายทางจึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้สารเคลือบผิวจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรได้ เนื่องจากสารเคลือบผิวเป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนสารเคลือบผิวตามธรรมชาติที่หายไป ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการแลกเปลี่ยนก๊าซ ส่งผลให้กระบวน การหายใจช้าลง ผลไม้จึงมีลักษณะปรากฏที่ดี ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน
โดยการศึกษาผลของสารเคลือบผิวต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร เช่น การทดลองเคลือบผิวมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ด้วยสารเคลือบผิวผลไม้บริโภคได้สูตร F001 ที่พัฒนาโดยกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบกับมะม่วงที่ไม่ผ่านการเคลือบผิว (control) พบว่าสารเคลือบผิวผลไม้บริโภคได้สูตร F001 สามารถยับยั้งการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและสามารถยืดอายุการจัดเก็บมะม่วงดังกล่าวที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ได้นานกว่า 7 วัน โดยที่มะม่วงที่ไม่ผ่านการเคลือบผิวจะเริ่มปรากฏอาการของโรคในวันที่ 7 และเมื่อเก็บไปจนถึงวันที่ 14 มะม่วงที่ไม่ผ่านการเคลือบผิวจะเกิดการเน่าเสียทั้งหมด ในขณะที่มะม่วงที่ผ่านการเคลือบผิวจะปรากฏอาการของโรคเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังแสดงในรูปที่ 1 และ 2
.jpg)
จากการทดลองพบว่าสารเคลือบผลไม้สูตร F001 ที่ทางคณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นสามารถยับยั้งเชื้อราคอลเลคโตตริกัม ( Colletotrichum gloeosporioides) ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่พบบนมะม่วงได้ดีกว่าดีกว่าสารเคมีต้านเชื้อราคาร์เบนดาซิม ที่ปริมาณสูงสุดตามมาตรฐานที่กำหนด คือปริมาณ 1000 ppm และเมื่อทดสอบสารเคลือบผิวผลไม้สูตร F001 ในการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงพันธ์น้ำดอกไม้พบว่า การเคลือบผิวมะม่วงพันธ์น้ำดอกไม้ด้วย สารเคลือบผิวผลไม้ สูตร F001 มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคมะม่วงเมื่อทำการจุ่มเคลือบแล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน และเมื่อใช้สารเคลือบผิวผลไม้ สูตร F001 ร่วมกับการเก็บรักษาที่ตู้ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (10 องศาเซลเซียส, 80%RH) จะสามารถยืดอายุมะม่วงได้นานกว่า 21 วัน
ข้อมูลโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เลขที่ 75/7ถนนพระรามที่ 6ราชเทวี กรุงเทพฯ10400
ฝ่ายประชาสัมพันธ์โทร 0 2201 7097-8 โทรสาร 0 2201 7470e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
,
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
เผยแพร่โดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.