กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวอบรม สัมมนา เจาะลึก ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ ของนักวิจัยม.อ. ช่วยสืบสวนคดี พิสูจน์หลักฐานในพื้นที่ภาคใต้

เจาะลึก ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ ของนักวิจัยม.อ. ช่วยสืบสวนคดี พิสูจน์หลักฐานในพื้นที่ภาคใต้

พิมพ์ PDF

 

 

 

              ภายหลังการประกาศรางวัลนวัตกรรมธุรกิจระดับประเทศ (MOST Innovation Awards 2016) ภายในงาน RSP Innovation 2016 (Regional Science Park Innovation Day) จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง ระหว่างวันที่ 9 - 10 กรกฏาคม  2559 ณ เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯที่ผ่านมา 

 

              ก่อนจะมาเป็นงาน RSP innovation Day 2016 ในครั้งนี้ สอว.ได้ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 แห่งจัดงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่  1.Northern Science Park Innovation Fair (NSP Innovation Fair) ณ จังหวัดเชียงใหม่ 2. Northeastern Science Park Fair 2016 (NESP Innovation Fair) ณ จังหวัดขอนแก่น และ Southern Thailand Science Park Innovation Fair 2016 (STSP Innovation Fair) ณ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจและบทบาทของ สอว.และการบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ต่างได้เฟ้นหาผลงานนวัตกรรมเพื่อรับรางวัลในสาขาต่าง ๆ สู่การช่วงชิงรางวัลนวัตกรรมธุรกิจระดับประเทศ

 

               สำหรับรางวัลนวัตกรรมธุรกิจระดับประเทศ หรือ MOST Innovation Awards 2016 ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมงานผิดหวัง เนื่องจากแต่ละชิ้นงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศนั้น ได้วิจัยและพัฒนาจนเกิดการนำไปใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วหลายชิ้น ซึ่งหนึ่งในชิ้นงานที่ได้รับความสนใจมากมายจากผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ  3 มิติ สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ - ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดย ดร.เอกวิภู กสลกรณ์สุรปราณี ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

 

  ดร.เอกวิภู กสลกรณ์สุรปราณี

 

               ดร.เอกวิภู กสลกรณ์สุรปราณี กล่าวว่า ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกนี้  สามารถลอกลายได้และใช้งานได้ง่ายในภาคสนาม สำหรับวิธีการใช้งาน อันดับแรกนำยางมาแปรรูปด้วยความร้อนที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส โดยสามารถใช้น้ำร้อนจากการต้มน้ำหรือไดร์ฟเป่าผมได้ หลังจากนั้นวัสดุจะกลายเป็นยางอ่อนนุ่มคล้ายดินน้ำมันและสามารถนำวัสดุไปพิมพ์ในจุดที่ต้องการลอกลาย พร้อมกดไว้ประมาณ 10 นาที แล้วรอ กระทั่งวัสดุเย็นตัวลง ท้ายสุดยางธรรมชาติเทอร์โบพลาสติกจะแสดงพิมพ์แบบเป็น 3 มิติ ตามพื้นที่นั้น ๆ แม้อุณหภูมิห้องก็ไม่สามารถทำให้ลายพิมพ์ลอก ลบหรือเปลี่ยนแปลงได้ 

 

              นอกจากนี้ ยางธรรมชาติเทอร์โบพลาสติกได้ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งสามารถช่วยสืบสวนสอบสวนมาแล้วหลายคดี เช่น คดีงัดแงะในอำเภอจะนะ สามารถลอกลายร่องรอยการงัดแงะที่เกิดจากการใช้เครื่องมือขนาดเล็ก และคดีลอบยิง โดยใช้ยางเทอร์โมพลาสติกลอกลายรูกระสุนปืนจนสามารถรู้ชนิดของกระสุนปืนและวิถีกระสุนได้ นอกจากนี้ ยังใช้ในงานด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล โดยเฉพาะร่องรอยลายนิ้วมือในผู้เสียชีวิตได้แบบ 3 มิติ ซึ่งอาจนำไปเป็นหลักฐานประกอบชั้นดีในการประกอบคดีความตัดสินได้ 

 

              นายสมปอง เพชรโรจน์ ผู้จัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่นักวิจัยได้พัฒนาวิจัยยางเทอร์โมพลาสติกขึ้นมา นักวิจัยก็ได้เข้ามายื่นจดอนุสิทธิบัตรกับทางอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ. ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือและสนับส่งเสริม พร้อมทั้งช่วยตรวจคำร่างที่นักวิจัยจะยื่นจดต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตอนนี้ได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินของทางมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว และพยายามผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในสังคมต่อไป 


 

 

ข่าวโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์ 

ภาพและวิดีโอโดย : นายเอกชัย สุนทรเดช และ นายรัฐพล หงสไกร 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :          อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป