กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวอบรม สัมมนา สวทช. ก.วิทย์ ร่วมกับ STS Forum และ JETRO จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาค “ASEAN – Japan Workshop in Thailand: Innovation, Science, and Technology for Sustainable Development”

สวทช. ก.วิทย์ ร่วมกับ STS Forum และ JETRO จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาค “ASEAN – Japan Workshop in Thailand: Innovation, Science, and Technology for Sustainable Development”

พิมพ์ PDF

 

 

     9 มิถุนายน 2559 – โรงแรมดุสิตธานี: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ Science and Technology in Society forum (STS forum) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาค “ASEAN – Japan Workshop in Thailand: Innovation, Science, and Technology for Sustainable Development” เพื่อเป็นเวทีผนึกกำลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  สร้างมิติใหม่ของเวทีระดมความคิดนับแต่ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อันจะเป็นกลไกเสริมในการริเริ่ม หารือและสร้างเครือข่ายแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อันเป็นผลพวงจากการใช้งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นการสานต่อความสำเร็จจากการจัดสัมมนาระดับภูมิภาค 2 ครั้งที่ผ่านมาที่สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในปี 2014 และ 2015 ตามลำดับ การสัมมนาที่กรุงเทพครั้งนี้นับเป็นการสัมมนาภายนอกญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 3  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากกลุ่มประเทศอาเซียนและญี่ปุ่นเข้าร่วมสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมที่จะเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม SMEs และบริษัทระดับโลก (Global Company) ในการเข้าสู่ AEC และการพัฒนากำลังคนเพื่อยกระดับความร่วมมือและการแข่งขันด้วยการใช้นวัตกรรมระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและญี่ปุ่น

 

     ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า  การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้นำของโลกและผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ใหม่ๆมาร่วมหารือโดยในปีนี้ได้เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบกับประเทศไทยในปีนี้ได้รับเกียรติให้เป็นประธานของกลุ่ม G77 ซึ่งชูธงไปทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ในระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะผสานนวัตกรรมและรวมพลังระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนผ่านโครงการ Food Innopolis,  Thailand Startups เพื่อสร้างฐานและผสมผสานในการสร้าง Startup ของอาเซียน นอกจากนี้ยังมีโครงการ Talent Moblity ช่องทางขยายไปสู่ ASEAN Talent Mobility ด้านการพัฒนากำลังทรัพยากร  รวมถึงโครงการคุณภาพ วทน. แห่งชาติ ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาไปสู่โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพระดับอาเซียน เพื่อให้อาเซียนพัฒนาไปร่วมกันและสร้างความเป็นหนึ่งในด้านเศรษฐกิจ

    ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเป็นกำลังสำคัญในการทำให้ทั้งภูมิภาคมีความเข้มแข็งและมั่นคงและประเทศไทยจะมีขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อที่จะก้าวผ่านประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลางต่อไป 

 

    ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) กล่าวว่า ท่านโคจิ  โอมิ ประธานและผู้ก่อตั้ง  STS Forum of Japan เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาครั้งนี้   เนื่องด้วยในศตวรรษที่ 21 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ  ซึ่งความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันในกลุ่มชาติอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์การพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ SME อันจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว  เกิดการจ้างงาน  การสัมมนาในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันอุดมศึกษา จากประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้มาพบปะหารือ ต่อยอด และแลกเปลี่ยนมุมมองว่าด้วยคุณค่าของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อการพัฒนา อันจะเป็นการสร้างคุณูปการในระยะยาวต่อมวลมนุษยชาติ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อกำหนดทิศทางและสถาปนาคุณค่าความสำคัญและพันธกิจต่ออนาคตอันยั่งยืนต่อไป

 

     นายโคจิ  โอมิ ประธานและผู้ก่อตั้ง STS Forum กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่างเห็นความสำคัญดังกล่าว   STS Forum ให้ความสำคัญกับบทบาทการเป็นพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และการสัมมนาระดับภูมิภาคครั้งนี้เป็นนิมิตรหมายอันดีที่ผู้บริหารระดับสูงจากญี่ปุ่นและกลุ่มชาติอาเซียนจะได้พบปะ เพื่อริเริ่ม แลกเปลี่ยนทัศนะด้านการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธุรกิจ   พร้อมทั้งมีเป้าหมายให้ประเทศญี่ปุ่นและอาเซียนจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในกิจการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในอนาคต  โดยที่ผู้ร่วมสัมมนาที่มาร่วมงานนี้บางท่านเดินทางไปร่วมการประชุมประจำปีที่เกียวโต ในเดือนตุลาคมนี้

 

 

 

ที่มาข้อมูล  ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

e-mail :   อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  Facebook : NSTDATHAILAND

สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 564 7000 ต่อ 71731, 71727, 1162
ลัญจนา (089-128-5004), ชนานันท์ (081 6396122), วีระวุฒิ (081-614-4465), ชัชวาลย์ (083 032-5145) กัณวีย์ (081-6256673) 
 
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร ,นายเอกชัย สุนทรเดช
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : 
     อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป