กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวอบรม สัมมนา วิทยาการสมัยใหม่และการประยุกต์ใช้งานระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะในการเพิ่มสมรรถภาพและความปลอดภัยในการบริหารการจราจรและระบบทางด่วน

วิทยาการสมัยใหม่และการประยุกต์ใช้งานระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะในการเพิ่มสมรรถภาพและความปลอดภัยในการบริหารการจราจรและระบบทางด่วน

พิมพ์ PDF

sssกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เนคเทค โดยความร่วมมือกับ สนข. และสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC)  หาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรและความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะด้วยความรู้และเทคโนโลยีใหม่  โดยจะจัดการสัมมนาเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ หรือ Intelligent Transportation System-ITS   ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2553  ณ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร มุ่งหวังนำเทคโนโลยีใหม่และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพไปแก้ไขปัญหาจราจร

          ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัญหาการจราจรติดขัดและความปลอดภัยในการใช้ยวดยานพาหนะเป็นปัญหาหลักที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านมลภาวะ สิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ รวมไปถึงความตึงเครียดของผู้ใช้ยวดยานพาหนะ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในการพัฒนาคุณภาพของการจราจรและขนส่ง ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและวิจัยระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System หรือ ITS) ในปี พ.ศ 2548 โดยอยู่ภายใต้สังกัดของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2549 กระทรวงคมนาคมได้กำหนดร่างแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาการบริหารจัดการระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะแห่งชาติ สำหรับปี 2549 - 2558 มีวาระครอบคลุม 10 ปี แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาระบบ ITS ไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การให้ข้อมูลแก่ผู้เดินทาง 2) การจัดการจราจรและขนส่ง 3) การปฏิบัติการรถขนส่งสินค้า 4) การจัดการขนส่งสาธารณะ 5) ความปลอดภัยและการจัดการเหตุฉุกเฉิน และ 6) การชำระค่าธรรมเนียมอิเล็กทรอนิกส์   

          ในปัจจุบัน การพัฒนาระบบ ITS ในประเทศไทยค่อนข้างเน้นไปที่ประเด็นยุทธศาสตร์ทางการให้ข้อมูลแก่ผู้เดินทางเป็นหลัก  การพัฒนาระบบการจัดการจราจร ยังไม่มีการนำระบบ ITS  มาใช้อย่างเต็มรูปแบบมากนัก   การสัมมนาครั้งนี้  จึงเน้นไปที่การบริหารจัดการจราจร  ที่ต้องมีความเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างดี  จึงจะสามารถนำระบบ ITS  มาประยุกต์ใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด   

          สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา การพัฒนาระบบ ITS ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุนทางด้านการวิจัยและการลงทุนจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการประเมินผลของเทคโนโลยีที่นำมาปฎิบัติใช้จริง เพื่อนำไปวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในอนาคต สำหรับประเทศไทยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสำหรับการบริหารการควบคุมการจราจรยังไม่ค่อยแพร่หลาย ทั้งนี้อาจเกิดจากองค์กรที่นำระบบไปประยุกต์ใช้อาจยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบ นอกจากนี้องค์กรที่นำระบบไปประยุกต์ใช้อาจจะไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญ เนื่องจากการขาดกระบวนการประเมินผล และใช้ตัวชี้วัดที่ชัดเจน และทำให้องค์กรหมดความสนใจที่จะลงทุนต่อไปในอนาคต

          ดังนั้น   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย   เนคเทค   และสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงวอชิงตัน    ร่วมกับ  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  และสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC)  จึงได้จัดการสัมมนาเรื่อง   วิทยาการสมัยใหม่และการประยุกต์ใช้งานระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะในการเพิ่มสมรรถภาพและความปลอดภัยในการบริหารจราจรและระบบทางด่วน   ในระหว่างวันที่ 14-15  กันยายน  2553   ณ  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  โดยเชิญ  Dr. Kevin Balke และ ดร.ประพฤทธิ์  ทรงจิตรักษา  จาก Texas Transportation Institute, Texas A&M university System  ประเทศสหรัฐฯ   มาเป็นวิทยากรในการสัมมนาร่วมกับวิทยากรจากเนคเทค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
 


          การสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเข้าใจในระบบเทคโนโลยีสำหรับการบริหารการจราจรและขนส่ง ตั้งแต่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารระบบ และการประเมินผลของระบบโดยใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสม การบริหารการจราจรจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นการบริหารระบบสัญญาณควบคุมการจราจรโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีใช้ในสหรัฐอเมริกาอย่างแพร่หลาย ระบบดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนการควบคุมเพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณ และลักษณะของผู้ใช้ถนน ส่วนที่สองจะเป็นการบริหารระบบทางด่วน (Freeway Management) โดยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ITS เข้ามาเพื่อควบคุมการจราจร และลดอันตรายจากอุบัติเหตุ นอกจากนี้ การสัมมนาจะครอบคลุมถึงการประเมินผลของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ โดยการทำแบบจำลอง และการเลือกใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสม

 

          ที่สำคัญ  จะเป็นการหารือถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา ระบบความปลอดภัยและประสิทธิภาพการบริหารการจราจรและขนส่งระหว่างองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
ระหว่าง Texas  Transportation Institute, Texas A&M University System  กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย  เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมด้วย

ดาวน์โหลด กำหนดการสัมมนาเรื่อง  วิทยาการสมัยใหม่และการประยุกต์ใช้งานระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะในการเพิ่มสมรรถภาพและความปลอดภัยในการบริหารการจราจรและระบบทางด่วน

แหล่งที่มา
  1. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค
  2. สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ณ กรุงวอชิงตัน
  3. สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์
  4. สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป