สุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้ มีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300 กิโลเมตร และเป็นระยะทางยาวกว่า 12,900 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของแนวคราสใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที โดยแนวคราสดังกล่าวพาดผ่านผิวโลกคิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 0.87 ของพื้นผิวโลกทั้งหมด บางส่วนของแนวคราสวงแหวนได้เริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา ผ่านประเทศชาด ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศสาธรณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา เคนยาและโซมาเลีย แล้วออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย และที่ตำแหน่งละติจูด 1 องศา 37 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 69 องศา 17 ลิปดาตะวันออก ในมหาสมุทรอินเดียจะเป็นตำแหน่งที่เกิดสุริยุปราคานานที่สุด คือ 11 นาที 8 วินาที หลังจากนั้นจะผ่านเข้าสู่ทวีปเอเชีย ผ่านบังกลาเทศ อินเดีย พม่าและเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนสามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ยุโรปตะวันออก ทวีปแอฟริกา เอเชียและประเทศอินโดนิเซีย
รูปที่ 1 : ภาพสุริยุปราคาวงแหวน (ภาพซ้าย) ภาพสุริยุปราคาบางส่วน (ภาพขวา)
รูปที่ 2 แสดงแนวคราสวงแหวนพาดผ่านทวีปเอเชีย 15 มกราคม 2553
การเกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ เป็นผลมาจากที่โลกเข้ามาอยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (perihelion) ในวันที่ 3 มกราคม ทำให้มองเห็นขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ใหญ่มากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันดวงจันทร์ก็เคลื่อนไปอยู่ที่ตำแหน่งห่างจากโลกมากที่สุด (apogee) ในวันที่ 17 มกราคม ทำให้มองเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กกว่าปกติ
แล้วเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลกมาอยู่แนวเดียวกันในวันที่ 15 มกราคม 2553 ดวงจันทร์จึงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์และบังดวงอาทิตย์ไม่มิดทั้งดวง แต่จะมองเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นวงแหวนโดยมีดวงจันทร์มืดอยู่ตรงกลาง จากปัจจัยหลายอย่างที่กล่าวมามีผลต่อลักษณะและความยาวนานของคราสที่พาดผ่านผิวโลกทั้งสิ้น
คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.narit.or.th/