กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวอบรม สัมมนา ก.วิทย์ฯ โดย สดร.จับมือ 30 หน่วยงานทั่วประเทศชวนคนไทยชม “สุริยุปราคาแห่งปี 2553”

ก.วิทย์ฯ โดย สดร.จับมือ 30 หน่วยงานทั่วประเทศชวนคนไทยชม “สุริยุปราคาแห่งปี 2553”

พิมพ์ PDF

 

 

ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานงานแถลงข่าว สุริยุปราคา ปี 2553  และพิธีมอบเอกสารเผยแพร่และอุปกรณ์ในการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาแก่มหาวิทยาลัยเครือข่ายและหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือจัดกิจกรรม  โดยมี รศ.บุญรักษา  สุนทรธรรม  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)   ดร.ศรันย์  โปษยะจินดา  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  (องค์การมหาชน ) (สดร.)   และ ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาภาคต่างๆ  ร่วมแถลงข่าว  ณ ห้องโถง ชั้น 1  อาคารพระจอมเกล้า  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  วันที่  8  มกราคม  2553

 

การจัดแถลงข่าวในครั้งนี้  เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แก่ นักเรียน  นิสิต  นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศให้เกิดความสนใจและได้รับความรู้ทางดาราศาสตร์  และเป็นการกระจายโอกาสในการบริการวิชาการอย่างทั่วถึง  สดร.จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคต่างๆ จัดกิจกรรม  สุริยุปราคาแห่งปี  15 มกราคม  2553  ขึ้น

 

 

 

 

 

 

ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   กล่าวว่า  การแถลงข่าววันนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย  คนไทย  ได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ปี พ.ศ. 2553 ครั้งแรกพร้อมกันทั่วประเทศ  โดยเครือข่ายของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน )   เป็นรผู้จัดกิจกรรมให้  ซึ่งจะได้เรียนรู้อะไรอีกมาก  สนุกสนาน  และจะได้ทำกิจกรรมเดียวกันพร้อมกันทั่วประเทศ  ซึ่งไม่ได้มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อย  เป็นการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์-วิทยาศาสตร์  ไปในตัว

 

 

 

 

 

 

            ด้าน  รศ.บุญรักษา  สุนทรธรรม   ผู้อำนวยการ สดร.  กล่าวว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ในวันที่ 15  มกราคม 2553  จะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คิดว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่เยาวชน  ประชาชนที่สนใจทั่วประเทศ  ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ 

 

            ด้าน  ดร.ศรันย์  โปษยะจินดา  รองผู้อำนวยการ สดร.  กล่าวว่า  การชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ขอให้ใช้วิธีที่ถูกต้องปลอดภัย  เนื่องจากดวงอาทิตย์มีความสว่างมากไม่สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ ต้องระมัดระวังเลือกใช้เครื่องมือที่มีความปลอดภัยสูงในการชม  เช่น แว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ สดร. ผลิตออกมา  การใช้กล้องรูเข็มฉายภาพลงบนฉากรับภาพ  กล้อง Solar Scope หรือ กระจกช่างเชื่อมเบอร์ 14

 

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคา ในวันที่ 15 มกราคม  2553  เป็นปรากฏการณ์ สุริยุปราคาแบบวงแหวน  โดยมีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300 กิโลเมตร  ตลอดเส้นทางของแนวคราสใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง  45 นาที  แนวคราสวงแหวนจะเริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา ผ่านประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง  ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  ยูกันดา  เคนยา  และโซมาเลีย  จากนั้นจะเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย  ผ่านเข้าสู่ทวีปเอเชีย  ผ่านบังกลาเทศ  อินเดีย  พม่าและเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนสามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ยุโรปตะวันออก  ทวีปแอฟริกา  เอเชียและประเทศอินโดนีเซีย 

 

ในประเทศไทย  จะสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วน  สามารถเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาค แต่ละภาคจะเกิดในเวลาที่ต่างกัน  โดยที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 14.00 น.  และสิ้นสุดเหตุการณ์เวลา 16.58 น.  และจะเกิดขึ้นนานที่สุดในภาคเหนือ ประมาณ 3 ชั่วโมง 6 นาที ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 77 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

 

นอกจากนี้  ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  มอบเอกสารเผยแพร่และอุปกรณ์ในการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาแก่มหาวิทยาลัยเครือข่ายและหน่วยงานที่ร่วมมือจัดกิจกรรม ได้แก่

 

 

 

 

 

ภาคกลาง                        มหาวิทยาลัยมหิดล   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 

ภาคเหนือ                        มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  มหาวิทยาลัยบูรพา  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  โรงเรียนเบญจมราชรังสฤทธิ์  โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา  หอดูดาวบัณฑิต

ภาคใต้                           มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ภาคตะวันออก                  โรงเรียนชลราษฎรอำรุง

 

 

ทั้งนี้  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนทั่วประเทศร่วมสัมผัสปรากฏการณ์สำคัญนี้ ไปพร้อมๆกัน ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกและครั้งเดียวของปี 2553 และจะเกิดอีกครั้ง  ใน 2 ปี ข้างหน้า

 

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.narit.or.th

 

 

ผู้เขียนข่าว : นางสาวอุษา  ขุนเปีย  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์   โทร. 0 2354 4466  ต่อ 120

ถ่ายภาพโดย : นางสาวสุนิสา  ภาคเพียร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์   โทร. 0 2354 4466  ต่อ 199

 

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป