กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลผลิต/โครงการ รมว.วิทย์ฯ เยี่ยมชมสถานีวิจัยกาแฟอราบิก้าหวังช่วยเกษตรกรชาวเขา

รมว.วิทย์ฯ เยี่ยมชมสถานีวิจัยกาแฟอราบิก้าหวังช่วยเกษตรกรชาวเขา

พิมพ์ PDF

 เพิ่มมูลค่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ

 

          วันนี้ 14 มีนาคม 2558 ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ นำสื่อมวลชนเดินทางเยี่ยมชมสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด เพื่อติดตามงานสถานีวิจัยอาราบิก้าแม่หลอด พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาป่าธรรมชาติ การแปรรูปกาแฟ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง และ เยี่ยมชมศูนย์สาธิตส่งเสริมการผลิตและแปรรูปกาแฟ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก

            ดร.พิเชฐฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขาด้วยการพัฒนาส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สามารถปลูกกาแฟได้รองจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในลำดับที่ 19 ของโลก โดยมีเพียงสองสายพันธุ์เท่านั้นสามารถปลูกได้ในประเทศไทยและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดซึ่งได้แก่ พันธุ์อราบิก้า ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ และโรบัสต้าเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้เฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ท่านทรงงานในเขตพื้นที่โครงการหลวง จึงได้สั่งการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามกระบวนการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ และรับฟังปัญหาของการปลูกกาแฟอราบิก้าในเขตพื้นที่ภาคเหนือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและหันมาปลูกกาแฟ พร้อมเพิ่มคุณภาพและผลผลิตทางเศรษฐกิจให้กาแฟอราบิก้าส่งออกได้มากยิ่งขึ้น

 


          ภายหลังการลงพื้นที่สถานีวิจัยโครงการหลวงต่างๆ พบว่าปัญหาของการปลูกกาแฟอาราบิก้ามีการแพร่ระบาดของมอด โรคราสนิม ปัญหาโรคพืชและการผสมสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีบทบาทในการนำความรู้จากนักวิชาการมาเผยแพร่เพื่อพัฒนาการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ พร้อมกับได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งงานวิจัยของไทยมีจุดเด่นที่สามารถรักษาโรคราสนิม รักษาการแพร่ระบาดของมอดได้ ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำความรู้ด้าน วทน. มาช่วยพัฒนาสายพันธุ์กาแฟในระดับโมเลกุลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น คล้ายกับการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อทำให้กาแฟอราบิก้ามีการพัฒนาปรับปรุงให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานการผลิต GMP การสร้างแบรนด์ที่ชัดเจน การปรับปรุงด้านการตลาด การบริหารจัดการแรงงานและกระบวนการปลูกกาแฟ ซึ่งกระบวนการพัฒนาต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงานทั้งกระทรวงวิทย์ฯ กระทรวงเกษตร นักวิจัยมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน

 


             อย่างไรก็ตาม การปลูกกาแฟอราบิก้าในเขตพื้นที่ภาคเหนือยังมีความจำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงและคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบนพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้การปลูกกาแฟมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด ชาวบ้านมีความรู้ด้านการป้องกันการกำจัดโรคและแมลง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลผลิต ตลอดจนการศึกษาและประเมินสภาพพื้นที่การเกษตร สภาพสังคมและเศรษฐกิจของชาวไทยในภาคเหนือ รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเกิดความยั่งยืนต่อไป
       นอกจากนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำหมู่บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาการบริหารจัดการไฟฟ้าของชุมชนจากเขื่อนกั้นน้ำขนาดเล็กที่ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้งานได้เองภายในหมู่บ้าน
 

 

 


ข่าวโดย  :  นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง, นายรัฐพล หงสไกร
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป