กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลผลิต/โครงการ รมว.วท. ลงพื้นที่ขุนช่างเคี่ยนหวังใช้ วทน. พัฒนาการปลูกและแปรรูปกาแฟ

รมว.วท. ลงพื้นที่ขุนช่างเคี่ยนหวังใช้ วทน. พัฒนาการปลูกและแปรรูปกาแฟ

พิมพ์ PDF

 

           เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ เดินทางเยี่ยมชมสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน จังหวัดเชียงใหม่  โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากมูลนิธิโครงการหลวง ทีมนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จาก สวทช. ภาคเหนือ ประกอบด้วย นายชวลิต กอสัมพันธ์  (ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)  ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง (ภาควิชากีฎวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ดร.มาลี ตั้งระเบียบ (สถาบันวิจัยเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง และผู้แทนผู้ประกอบการ คุณนฤมล ทักษอุดม (กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาวไทยภูเขา (ฮิลล์คอฟฟ์) จำกัด) และ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการปลูกกาแฟอราบิก้าในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาการปลูกและแปรรูปกาแฟอย่างครบวงจร

 


              ปัญหาของการเกิดมอดเจาะผลกาแฟระบาดในพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า บนพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทยมีรายงานการระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 พบว่ามีระบาดใน 4 พื้นที่หลักคือ (1) ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย (2) ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (3) ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ  (4) ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก การระบาดของมอดก่อให้เกิดความเสียหายด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ด้านปริมาณพบว่ามีผลที่ถูกมอดเจาะ 1.50-25.25 % ส่วนด้านคุณภาพ การทำลายของมอดทำให้เมล็ดกาแฟมีแผลซึ่งเกษตรกรต้องคัดออกในกระบวนการคัดเกรดทำให้เสียน้ำหนักและรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟขยายไปอย่างรวดเร็วและระบาดไปเกือบทุกพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟขนาดใหญ่และปลูกมานาน เช่น พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง พื้นที่ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน นอกจากพื้นที่ระบาดเพิ่มมากขึ้นแล้วยังพบว่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้นด้วย

 


              ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาคเหนือ ได้สนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นแก่คณะนักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง และภาควิชากีฎวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง  ในการพัฒนาเทคโนโลยีวิธีการป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสียหายของผลผลิตกาแฟและลดความรุนแรงของการระบาดโดยใช้การจัดการด้านเขตกรรม ร่วมกับ สารสกัดจากพืชธรรมชาติและใช้สารล่อมอดกาแฟชนิดของแข็ง (พัฒนาขึ้นใหม่ ได้รับอนุสิทธิบัตร) และชนิดของเหลว ตลอดจนพัฒนาหัวเชื้อรากำจัดมอดเจาะผลกาแฟที่สามารถใช้ได้ผลสำหรับตัดวงจรชีวิตของมอดตลอดทั้งปีช่วยให้ปริมาณผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพและลดความสูญเสียจากมอดได้มากกว่า 50% โดยที่ผ่านมาได้มีผลการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยพายัพ พบว่า ผลงานวิจัยฯ ได้ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตในลักษณะที่เป็นผลกาแฟสดมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากการสำรวจปริมาณการผลิตสารกาแฟอราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือนั้นพบว่ามีผลผลิตประมาณปีละ 2,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 350,000,000 บาท และจากผลงานวิจัยระบุว่าการทำลายของมอดเจาะผลกาแฟนั้นทำให้เมล็ดกาแฟสูญเสียน้ำหนักประมาณ 22.03 เปอร์เซนต์  ดังนั้นอาจอนุมานได้ว่าในกรณีที่มีการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดแล้วก็อาจทำให้ปริมาณการผลิตสารกาแฟอราบิก้าลดลง 550.75 ตัน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า ถึง 77,105,000 บาท ดังนั้นหากเกษตรกรชาวสวนกาแฟที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันการระบาดและป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอราบิก้าแบบผสมผสาน และได้ร่วมมือกันดำเนินการอย่างเต็มที่และในทุกพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟในภาคเหนือแล้วก็จะช่วยลดความเสียหายทางผลผลิตซึ่งถือว่าเป็นการได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

 


             ทั้งนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ นักวิจัยศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน จัดทำแผนงานที่ประสบปัญหาและต้องการให้รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อนำไปสู่ผลสรุปที่ชัดเจน พร้อมกับการพัฒนาการปลูกและแปรรูปกาแฟอย่างครบวงจรโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปัญหาที่พบกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อหาอัตลักษณ์ของกาแฟไทยและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน

 

 

 


แหล่งที่มาข้อมูล :
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ประสานข้อมูลและข่าวโดย  :  นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง, นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป