กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลผลิต/โครงการ โครงการการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการติดตามและประเมินพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53

โครงการการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการติดตามและประเมินพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53

พิมพ์ PDF

          คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พิจารณาแนวทางการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการตรวจสอบสภาพพื้นที่การเพาะปลูก เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกข้าวของเกษตรกรทั้งประเทศ สำหรับการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการ “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการติดตามและประเมินพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2” เสนอต่อ คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 และ คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยมีหน่วยงานร่วมโครงการ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมชลประทาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมป่าไม้ กรมที่ดิน และกรมธนารักษ์ และให้รายงานผลเป็นข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม มาตราส่วน 1:25,000 ของพื้นที่เพาะปลูก จำแนกรายตำบลส่งให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2553 เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

     1. เพื่อประเมินและจัดทำแผนที่ปลูกข้าวปี 2552/53 รอบที่ 2 ทั่วประเทศ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศโดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม
     2. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ทั่วประเทศ สำหรับใช้สนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกในโครงการประกันรายได้เกษตรกร

 

เป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์

     1. ระบบฐานข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
     2. แผนที่ (Digital map) และข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ จำแนกรายภาค รายจังหวัด อำเภอ ตำบล รวมถึงพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทาน มาตราส่วน 1 : 25,000 หรือดีกว่า
     3. ระบบบริการแผนที่ทางอินเตอร์เน็ต พื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การตรวจสอบพื้นที่เพื่อจ่ายเงินประกันระดับรายแปลง โดยเกษตรกรนำรูปแปลงที่ดินมายืนยัน
     4. เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การประมาณผลผลิต การจ่ายค่าชดเชยคความเสียหายในกรณีเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น

 

แผนงาน/กิจกรรม

     1. จัดตั้งคณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจในการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 โดยมี สทอภ. เป็นเจ้าภาพ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมโครงการ เป็นคณะทำงาน เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์รวมถึงร่วมกันรายงานผลการประเมินและติดตามพื้นที่ โดยคณทำงานจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่องทุก 1-2 สัปดาห์
     2. จัดหาข้อมูลจากดาวเทียมทั้งระบบเชิงคลื่นแสง และระบบเรดาร์ ประกอบด้วย THEOS, LANDSAT, ALOS, WorlView, GeoEye และ RADARSAT-2 เพื่อติดตามและปรเมินพื้นที่ปลูกข้าวปี 2552/53 รอบที่ 2 รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น ขอบเขตการปกครอง ข้อมูลการใช้ที่ดิน ข้อมูลพื้นที่ชลประทาน ข้อมูลแบบจำลองลักษณะภูมิประเทศ ข้อมูลแปลงที่ดิน เป็นต้น ในการดำเนินงานจะใช้ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS เป็นหลัก (ภาพสีรายละเอียดข้อมูล 15 เมตร) ซึ่ง สทอภ. ได้ดำเนินการถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ประเทศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพศจิกายน 2552 เป็นต้นมา และจะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในระบบเชิงคลื่นแสงดวงอื่นๆ ที่รับภาพโดยสถานีรับของ สทอภ. เช่น LANDSAT, ALOS, RADASAT ประกอบในบริเวณที่ไม่มีข้อมูลจากดาวเทียม THEOS โดยข้อมูลดาวเทียมในช่วงสำหรับประเมินพื้นที่ปลูกภาคเหนือ
ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเป็นข้อมูลที่บันทึกในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. 52 - เม.ย. 53 ในขณะที่การประเมินพื้นที่ปลูกบริเวณพื้นที่ภาคใต้ จะเป็นข้อมูลที่บันทึกใน ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. 53 ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาเพาะปลูก และการขึ้นทะเบียนของเกษตรกร
     3. การวิเคราะห์ การแปลตีความข้อมูลจากดาวเทียม และการสำรวจข้อมูลภาคสนาม เพื่อจัดทำแผนที่ และรายงานพื้นที่ปลูกข้าวปี 2552/53 รอบที่ 2 มีขั้นตอนในการดำเนินงาน 
        3.1 ประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียม และแปลความพื้นที่เพาะปลูกข้าว โดยใช้ระบบโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลผสมผสานกับการแปลด้วยสายตา โดยมีข้อมูลพื้นที่ตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจภาคพื้นดิน เป็นข้อมูลประกอบการแปล รวมทั้งภูมิสารสนเทศอื่นๆ เช่น ความสูงภูมิประเทศ แผนที่การใช้ที่ดิน ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกในอดีต ขอบเขตชลประทาน เป็นต้น โดยจะทำการแปลตีความหาพื้นที่เพาะปลูกข้าว จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาเพาะปลูก
        3.2 สำรวจข้อมูลภาคพื้นดิน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการแปลภาพร่วมกับหน่วยงานร่วม ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทาน ในพื้นที่จริงที่มีการเพาะปลูกข้าว โดยการสุ่มตรวจ เพื่อตรวจสอบข้อมูลสภาพการเพาะปลูกให้กระจายตามสภาพภูมิประเทศในแต่ละภาค โดยจะใช้ข้อมูลอื่นๆเป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบภาคพื้นดินด้วย โดยมีเครื่องมืออ่านค่าพิกัดด้วยระบบดาวเทียม (GPS) ระบุตำแหน่ง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกใช้ในการประเมินความถูกต้องในการแปลตีความ    
        จากนั้นจึงดำเนินการจัดทำแผนที่พื้นที่ปลูกข้าว และคำนวณหาพื้นที่เพาะปลูก และจัดทำรายงานเสนอครม. เพื่อรับทราบ พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาประกันราคาผลผลิต
     4. การรายงานข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก จะดำเนินการให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาปลูกและขึ้นทะเบียนเกษตรกร ในกรอบรวมทั้งประเทศ โดยมีรอบการรายงานทุกเดือนตลอดระยะฤดูกาลเพาะปลูก เริ่มรายงานครั้งแรกในวันที่ 9 มีนาคม 2553
     5. การจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 สำหรับใช้สนับสนุนการตรวจสอบเพื่อจ่ายเงินชดเชยในโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยการพัฒนาระบบแผนที่ผ่านเครือยข่ายอินเตอร์เน็ต (Wep Map Service) โดยหน่วยงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สามารถเชื่อมโยงและเรียกดูข้อมูล พร้อมทั้งนำรูปแปลงเกษตรกรในโครงการประกันมาซ้อนทับพื้นที่เพาะปลูก เพื่อการตรวจสอบและยืนยันได้ เพื่อซ้อนทับกับรูปแปลงก็สามารถทำได้เช่นกัน
         ทั้งนี้ รูปแปลงที่ดินที่นำมาใช้ในการตรวจสอบจะได้จากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นต้น
        โดยในการตรวจสอบระดับรายแปลง สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาความแตกต่างของพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียน กับพื้นที่ที่ได้จากการประเมิน อย่างมีนัยยะสำคัญ จะใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง เช่น THEOS Pan รายละเอีด 2 เมตร และ/หรือ WorldView-2 หรือ QuickBird รายละเอียด 50 ซม. เป็นบริเวณหรือกรณีไป 

 

หน่วยงานเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์ข้อมูล

     1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
     2. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
     3. กรมส่งเสริมการเกษตร
     4. กรมการข้าว
     5. กรมชลประทาน
     6. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
     7. หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
 

หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
  เลขที่ 120 หมู่ 3 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคาร B) ชั้น 6 และชั้น 7
  ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
  โทรศัพท์ 0-2141-4470
  โทรสาร 0-2143-9586
  เว็บไซต์ http://www.gistda.or.th

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป