กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน การสัมมนาทางวิชาการ ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การสัมมนาทางวิชาการ ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

พิมพ์ PDF

                 ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2552 เรื่อง ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (Geography and Economic and Social Development) จัดโดย สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย  โดยความร่วมมือจาก ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร  และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)  โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล. ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และ รศ.ดร. วิชัย  ศรีคำ นายกสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ  ณ  ห้องประชุมเทพยสุวรรณ  อาคาร 36 ปี คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์  จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 22  ตุลาคม  2552  

                 ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า เรื่องภูมิศาสตร์เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนหรือชาวโลกน่าจะต้องให้ความสนใจพิเศษ  แต่อย่างไรก็ตามหัวข้อที่นำมาสัมมนาเป็นหัวข้อที่ทันสมัยมาก เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยอาศัยความรู้ทางภูมิศาสตร์  นักศึกษานักเรียนที่เรียนเรื่องภูมิศาสตร์ก็คงจะทราบว่าภูมิศาสตร์เกี่ยวข้องกับอะไรหลายอย่าง และไม่มีขอบเขต  พูดถึงภูมิอากาศอย่างเดียวทั่วโลกเกี่ยวข้องกันหมด  ประเทศไทยก็มีส่วนช่วยให้เกิดปัญหากับภูมิอากาศของโลกได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีภูมิศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ  ด้านกายภาพ  ด้านแผนที่ ด้านดาวเทียม ฯลฯ  ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาทีเดียว เนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดูแลสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)  และสมาคมภูมิศาสตร์ก็เป็นสมาคมหนึ่งในสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นสมาชิกลำดับที่ 15 จากสมาชิกทั้งหมด 28 สมาคม 
                 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันนี้  เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของประชาชน  ต้องขอชื่นชมทางสมาคมภูมิศาสตร์ฯ ที่เรียนเชิญวิทยากรที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐศาสตร์  ดาวเทียม  การจัดการปัญหาเฉพาะที่ อาทิ ตลาดน้ำ  ซึ่งน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา  รวมถึงนักเรียนนักศึกษาจะได้รับทราบว่าใครทำวิจัยด้านไหนเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของประเทศไทยบ้าง  มีการเสนอผลงานวิจัยมากมาย  

                  ประเทศไทยมีดาวเทียมเพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรก  คือ ดาวเทียม THEOS (Thailand Earth Observation Satellite) ยิงขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ขณะนี้ได้บริการข้อมูลให้กับหน่วยราชการและเอกชนภายในประเทศแล้วตั้งแต่เดือน มิถุนายน  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม THEOS เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม นี้ ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี  และท่านก็รับสั่งว่าดาวเทียมจะมีประโยชน์มากในการติดตามโครงการอย่างน้อยที่สุดโครงการของราชการ  ของรัฐบาลและโครงการตามแนวพระราชดำริ เพื่อจะติดตามโดยที่ดูจากที่สูงจะเห็นเป็น 3 มิติ  สามารถที่จะใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เพิ่มเติมจากภาพถ่ายดาวเทียมที่เห็นเป็นภาพขาวดำหรือภาพสี   ดาวเทียม THEOS มี 2 กล้อง เป็นกล้องขาวดำ 1 กล้อง และกล้องถ่ายภาพสีอีก 1 กล้อง จะหมุนรอบโลกภายใน 101 นาที  ทุกๆ 26 วัน ดาวเทียมดวงนี้ก็จะกลับมาที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง  เนื่องจากเป็นดาวเทียมของประเทศไทยเอง  เราจึงสามารถที่จะกำหนดสั่งให้ดาวเทียมถ่ายภาพที่มีความฉุกเฉิน โดยเอียงกล้องมาถ่ายพื้นที่ที่ต้องการ  ทำให้สามารถติดตามการทำงานได้ 
                 เป็นตัวอย่างที่อยากเล่าให้ฟังว่า ภูมิศาสตร์  แผนที่ ดาวเทียม มีประโยชน์มหาศาล เกี่ยวกับการวางแผนจัดการเมือง  จัดการแหล่งท่องเที่ยว จัดการเกี่ยวกับพืชที่ควรจะปลูก เพราะดาวเทียมจะบอกเราว่าพื้นที่ไหนเป็นอย่างไร  ควรจะปลูกพืชอะไรบ้างจึงจะเหมาะสม  ทางด้านความมั่นคงก็สามารถที่จะใช้ดาวเทียมติดตามได้เช่นเดียวกัน  ถ้าเรารู้จักพื้นที่ภูมิศาสตร์ของเราดี เราก็จะสามารถวางแผนการทำงานบริหารจังหวัดหรือประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเราใช้ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์มาช่วยในการทำงาน   

                 ด้าน รศ.ดร. วิชัย  ศรีคำ นายกสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนาประจำปี ซึ่งกำหนดเป็นประจำในเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่สมาชิกส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นครู-อาจารย์ และนักวิชาการ อยู่ในระหว่างปิดภาคการศึกษา  การสัมมนาประจำปี 2552 ได้กำหนดหัวข้อการประชุมเรื่อง ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ 1. เพื่อระดมความคิดในการนำความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์สาขาต่างๆ  มาแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางสังคมของประเทศที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน  2. เพื่อนำความรู้ทางภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน   3. เพื่อร่วมกันหาแนวทางปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนทางด้านภูมิศาสตร์และสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาทุกระดับให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  การสัมมนาฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2552 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประมาณ 150 คน จากมหาวิทยาลัย  โรงเรียน สถาบันการศึกษา  ส่วนราชการต่าง ๆ และองค์การเอกชน  ตลอดจนประชาชนผู้มีความสนใจทางด้านนี้  รูปแบบการสัมมนาทางวิชาการมีทั้งการปาฐกถาพิเศษ  การอภิปราย  การเสนอผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการ รวมทั้งมีการศึกษานอกสถานที่ 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่
สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย 
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์  จังหวัดนครปฐม  73000  
โทร.  034 255097  โทรสาร 034-255-794 

 

 

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร. 02 354 4466 ต่อ 118
ถ่ายภาพโดย : น.ส.สุนิสา  ภาคเพียร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร. 02 354 4466 ต่อ 199
 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป