ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ประจำปี 2551 เรื่อง “รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับ กรมแผนที่ทหาร สมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกล และสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมการสำรวจและการแผนที่ สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมการแผนที่แห่งประเทศไทย และสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 ณ ห้องแกรนด์คอนเวนชั่น ฮอล 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการจัดประชุมวิชาการ ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีของผู้สร้างสรรค์ผลงานและเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างบุคคลที่สนใจและทำการศึกษาวิจัย เพื่อส่งผลให้ความสามารถที่มีอยู่ได้เพิ่มพูลมากขึ้นในเชิงลึก และมุมมองในเชิงกว้างอีกด้วย เนื่องจากมีชาวต่างประเทศมาเข้าร่วมสัมมนาด้วย การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญมากในการนำเสนอผลงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าทั่วโลกกำลังตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจกับปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ สภาวะโลกร้อน นั้นเอง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกในด้านต่าง ๆ ตามมา ในส่วนของประเทศไทย แนวทางและมาตรการต่าง ๆ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว เช่น การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ด้านการลดการใช้พลังงาน การรณรงค์ให้มีการปลูกป่าทดแทน การสร้างความตระหนักและปลุกจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการวางแผน และสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างถูกต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้ส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรก ที่มีชื่อว่า ดาวเทียมธี-ออส ขึ้นสู่วงโครจรได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อประเทศไทยมีดาวเทียมสำรวจทรัยากรดวงแรกของไทยแล้ว สามารถนำข้อมูลจากดาวเทียมดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ได้ ซึ่งเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำมาใช้เพื่อศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร และสภาพแวดล้อม ตลอดจนวางแผนป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลก การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ทำให้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญและคุณค่าในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปสู่ระดับเยาวชน และประชาชนทั่วไป และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนงานด้านนี้อย่างเต็มที่ และต่อเนื่องเพื่อนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ต่อไป
ด้าน ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมแผนที่ทหาร สมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมการสำรวจและการแผนที่ สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมการแผนที่แห่งประเทศไทย และสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย จัดการประชุมวิชาการขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้เผยแพร่และนำเสนอผลงานวิชาการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านภูมิสารสนเทศ รวมทั้งเสนอความก้าวหน้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานและพัฒนาประเทศยิ่งขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนนำเสนอและแข่งขันผลงานโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโรงเรียนและท้องถิ่น อันเป็นการสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในระดับเยาวชน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงการประยุต์ใช้ในหลายสาขา ได้แก่ การเกษตร ป่าไม้ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัต ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ประมาณ 600 คน
การประชุมดังกล่าว มีการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยหน่วยงานเอกชน จำนวน 35 แห่ง และหน่วยงานราชการ 30 แห่ง รวมถึงการนำเสนอบทความทางวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศด้านทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรดิน สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ การตั้งถิ่นฐานและผังเมือง การเกษตรและการใช้ที่ดิน ตลอดจนการสำรวจและการทำแผนที่โดยนักวิชาการ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา ทั้งนี้จะมีรางวัลสำหรับผู้เสนอบทความดีเด่นอีกด้วย ส่วนบทความที่นำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งนี้มีจำนวน 100 บทความ โดยแบ่งตามประเภท คือ ด้านการสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing : RS) ด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ด้านระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยดาวเทียม ( Global Postioning System : GPS) ด้านการสำรวจและการทำแผนที่ (Surveying and Mapping) และด้านมาตรฐานระบบภูมิสารสนเทศ (GIS Data Standard) โดยจะผลักดันให้นำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาด้านภูมิสารสนเทศและการต่อยอดสิทธิบัตร รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้ เข้าใจ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการทำโครงงานวิจัย
ผู้เขียนข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์
ผู้ตรวจข่าว : หัวหน้าประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี