กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน “กิติพงค์” ถอดรหัสประเทศไทย แนะนวัตกรรมแห่งอนาคตปูทางสู่ไทยแลนด์ 4.0

“กิติพงค์” ถอดรหัสประเทศไทย แนะนวัตกรรมแห่งอนาคตปูทางสู่ไทยแลนด์ 4.0

พิมพ์ PDF

 

 

    ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า   หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศเกาหลีใต้ในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ( วทน.) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะเห็นว่าภาพรวมประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำโดยรั้งอันดับที่ 47 ซึ่งยังห่างไกลกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งติดอันดับ 8 จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุด ปี 2559 หากมองถึงรายได้ประชาชาติของทั้ง 2 ประเทศ ปี 2557 เกาหลีใต้มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงถึงประมาณ 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 5,997 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ในปี 2513 รายได้ของทั้ง 2 ประเทศ อยู่ในระดับเดียวกันคือประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ หากเปรียบเทียบลงลึกไปถึงการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพี พบว่าการลงทุนในเกาหลีใต้มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 3.8 ในขณะที่ไทยมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 0.5 เท่านั้น

 

 

     ดร.กิติพงค์ฯ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาเก็บข้อมูลตัวเลขเชิงเปรียบเทียบ ของ สวทน. ถึงสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากับจีดีพีของกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ คิดเป็นจีดีพีสูงสุดประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่กลับมีสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาเพียงร้อยละ 0.2 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูงมีจีดีพีประมาณ 8 แสนล้านบาท กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวมีจีดีพีประมาณ 4 แสนล้านบาท 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนการลงทุนวิจัยพัฒนาไม่ถึงร้อยละ 0.2 รวมถึงการจดสิทธิบัตรต่างๆ ยังมีจำนวนที่น้อยมาก แต่เรายังได้เห็นการทิศทางที่ดีในกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งมีจีดีพีประมาณ 6 แสนล้าน กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ซึ่งมีจีดีพีประมาณ 1 ล้านล้านบาท 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนการลงทุนวิจัยพัฒนาสูงขี้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ประมาณร้อยละ 1  

 

 

 

       ขณะนี้ สวทน. ได้จัดทำโครงการศึกษาเทคโนโลยียุทธศาสตร์สำหรับสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตประเทศไทย พบว่านวัตกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตาที่กำลังได้รับการพัฒนาทั้งในระดับโลก หรือกำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย เป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้ง 5 กลุ่ม ให้สามารถก้าวเข้าสู่โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโมเดลและแผนที่ข้อมูลทางการเกษตร ระบบควบคุมน้ำ ปุ๋ยอัตโนมัติ การตรวจวัดสภาพดิน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ  หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด เซนเซอร์อัจฉริยะบนร่างกาย ในการสนับสนุนกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ การพัฒนาเซนเซอร์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล การจัดการและการแสดงผลข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาการเข้ารหัสและถอดรหัสความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ สำหรับกลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และการพัฒนาด้านแอนิเมชั่น เทคโนโลยีผสานโลกเสมือนจริง เพื่อต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการ

 

 

        ดร.กิติพงค์ฯ กล่าวถึง โครงการสำคัญที่ สวทน.กำลังดำเนินการเพื่อปูทางให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักทั้ง 5 กลุ่มสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0  ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร ได้แก่ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู๊ดอินโนโพลิส ที่มีจุดประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดบริษัทหรือหน่วยงานวิจัยพัฒนาด้านอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย การสนับสนุนเอกชนไทยตั้งแต่ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี จนถึงบริษัทขนาดใหญ่เพื่อสร้างรายได้ใหม่ของประเทศจากสินค้าและบริการจากนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูง รวมทั้งพัฒนาบุคลากรความรู้ชั้นสูงด้านเกษตรอาหาร

 

 

      โครงการ ฟู๊ดอินโนโพลิส ได้จัดเตรียมพื้นที่กว่า 200 ไร่ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมทั้งจัดเตรียมความสะดวกในด้านต่างๆ เช่นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหาร เราคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี โครงการฟู๊ดอินโนโพลิส  จะสามารถดึงดูดบริษัทชั้นนำของโลกทั้งจากต่างประเทศและในประเทศกว่า 50 บริษัทเข้ามาลงทุนและทำ วิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยคาดการณ์ มูลค่าการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมถึงประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพี ประมาณ 0.045% ถึง 0.053% ต่อปี และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการนำผลวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมไปผลิตหรือบริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท รวมทั้งมีบริษัท Startup ด้านอาหารเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 บริษัท

       อีกหนึ่งโครงการหลักที่ขับเคลื่อนโดย สวทน. ร่วมกับหน่วยงานอื่นคือ โครงการสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์  ซึ่ง สวทน. ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาบริษัทสตาร์ทอัพ ครอบคลุมในหลายๆ ด้าน โดยได้รับงบประมาณจัดสรรจากรัฐบาลกว่า 1,089 ล้านบาท รวมทั้งการศึกษาแก้ไขกฎหมายบางฉบับเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาสตาร์ทอัพ อย่างเป็นรูปธรรม จากการคาดการณ์ในอีก 5 ปี คาดว่าจะมี สตาร์ทอัพ เพิ่มจำนวนกว่า 2,000 ธุรกิจ โดยเป็นธุรกิจดาวรุ่งอย่างน้อย 20 ธุรกิจ สตาร์ทอัพ ดิสทริกท์ และ โคเวิร์กกิ้ง สเปซ  กว่า 30 แห่ง  ดร.กิติพงค์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

โทร. 02 333 3728-3732  โทรสาร 02 333 3834

E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  Facebook : sciencethailand

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» กระทรวงวิทย์ฯ แจงขีดความสามารถการแข่งขันไทยขึ้นอันดับ 28 สถิติการใช้เน็ตนำโด่งเล่นโซเชียลติดเกมส์ ห่วงแรงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขาดแคลน
» สทน. ลงนามความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ร่วมวิจัยพัฒนาแมลงวันผลไม้สายพันธุ์ใหม่ ใช้ลดปริมาณแมลงในพื้นที่เกษตรกรรม
» สทน. ลงนามความร่วมมือกับวินอะตอม เวียดนาม ร่วมวิจัยและสร้างมาตรการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
» ก.วิทย์ฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกับประเทศอาเซียน เร่งเดินหน้าแผน APASTI 2015-2025 ให้สมบูรณ์
» ก.วิทย์ฯ จัดประชุมระดมความคิด 10 สมาชิกอาเซียน สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ฯร่วมกัน!
» กระทรวงวิทย์ฯ เดินหน้าปฏิรูปกลไกบริหารจัดการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
» กระทรวงวิทย์ฯ ผลิตรายการ “ส่องโลกนวัตกรรม” ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส คัด 80 นวัตกรรมฝีมือคนไทย
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป