ภายหลังการเดินทางไปร่วมงาน “กิจกรรมวิเทศสัญจร ครั้งที่ 4” ที่จัดขึ้นโดยสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สม.สป.) การเดินทางไปร่วมงานครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศภายในหน่วยงานในสังกัด ซึ่งภายหลังการประชุมทางคณะทำงานได้เดินทางไปยัง ‘หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา’ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่งตามโครงการหอดูดาวส่วนภูมิภาคของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หอดูดาวฯ แห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับอุทยานการเรียนรู้สิรินธร ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แม้ค่ำคืนนี้ฝนโรยรินลงมาให้ชุ่มช่ำ แต่ทางหอดูดาวยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ภายในหอดูดาวประกอบไปด้วยอาคารนิทรรศการ เป็นอาคารหลังแรกที่อยู่ด้านหน้าของพื้นที่ ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตามปรากฏการณ์สำคัญในรอบปี เช่น เหตุการณ์สำคัญที่ยังจำกันได้ คือ ดาวอังคารใกล้โลก และยังมีการจัดแสดงภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าฝีมือคนไทยและอุกกาบาตแคมโปเดลเชียโร่ ซึ่งเคยตกที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อ 4,000 - 5,000 ปีที่ผ่านมามีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ให้ร่วมชมและสัมผัสอุกกาบาตขนาด 100 กิโลได้!
![]() |
![]() |
ส่วนของท้องฟ้าจำลอง จะอยู่ด้านในสุดของอาคารนิทรรศการ ซึ่งสามารถรองรับผู้เข้าชมได้รอบละ 44 คน เสียงวิทยากรแว่วเข้ามาขณะที่ทุกคนกำลังนั่งลงในห้องท้องฟ้าจำลอง พร้อมกับปิดไฟทุกดวง “มองขึ้นข้างบนนะครับ ขณะนี้คือท้องฟ้าจำลองเหมือนของจริงในเวลา 20.30 น.” ดาวดวงเล็ก ๆ ค่อย ๆ ส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องฟ้า ราวกับว่ากำลังนอนดูดาวอยู่ตำแหน่งที่สามารถเอามือแตะท้องฟ้าได้ วิทยากรค่อย ๆ เล่าเรื่องของดาว พร้อมกับบอกวิธีดูดาวต่าง ๆ ด้วยการฉายภาพด้วยระบบดิจิทัลความละเอียดมากกว่า 12 ล้านพิกเซล บนฉากรับที่เป็นโดมครึ่งทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ทุกคนภายในห้องร้อง “ว้าว” ไปตามๆ กัน
ภายหลังจบเรื่องเล่าของดาวแล้ว ทุกคนก็มุ่งหน้าไปยังอาคารหอดูดาว ตั้งอยู่ทางด้านหลังของอาคารนิทรรศการ เป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งพื้นที่ด้านหน้าเป็นลานกิจกรรม ส่วนชั้นที่ 2 เป็นลานดูดาวพร้อมกล้องโทรทรรศน์จำนวน 5 ตัวที่มีขนาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว จนถึง 14 นิ้วติดตั้งอยู่บนฐานของเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ คลุมด้วยหลังคาแบบเลื่อนเปิด – ปิดได้และรองรับผู้เข้าชมได้จำนวน 50-70 คน และอีกด้านหนึ่งของอาคารเป็นประตูทางเข้าหอดูดาวซึ่งภายในมีกล้องโทรทรรศน์ที่มีกระจกรับแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางครึ่งเมตร และเป็นกล้องที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ เพราะสามารถรองรับการเชื่อมต่อสัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และเป็นศูนย์กลางการกระจายข้อมูลและทำการถ่ายทอดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ไปยังโรงเรียนในเขตพื้นที่ได้ด้วย
ช่างน่าเสียดายที่ท้องฟ้ายังคงปิด พร้อมกับสายฝนที่กระหน่ำเทลงมาทำให้ไม่สามารถดูดาวในอาคารหอดูดาวได้ แม้ไม่สามารถดูดาวในท้องฟ้าจริงได้ แต่นับว่าคุ้มแล้วกับการเรียนรู้ในครั้งนี้เพราะภายในหอดูดาวยังได้ให้อะไรมากกว่าที่คิด รวมถึงสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างอุกกาบาตอายุร่วม 5,000 ปี หรือวิธีดูทางช้างเผือก อย่างไรก็ตาม หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้เปิดต้อนรับให้แก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ในวันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. และหยุดทำการในวันจันทร์ หรือผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 0 4421 6255 หรืออีเมล์
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
![]() |
|
![]() |
![]() |
ข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.narit.or.th
เขียนโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์
ภาพโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313