กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมมือ Nomura research Institute (NRI) ซึ่งเป็นหน่วยงานอันดับหนึ่งในด้านนโยบายของประเทศญี่ปุ่นจัดงานสัมมนา เรื่อง “The New S-Curve of Industries development in Thailand: Global and Japanese experiences” โดยเน้นมุมมองเรื่องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลในเรื่อง Industrial 4.0 และ Electrical Vehicle (EV)
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “ปัจจุบันทุกประเทศบนโลกมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น เหตุผลนี้ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองในการแข่งขัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้จึงทำให้หลายประเทศต่างตื่นตัวกับผลกระทบที่ติดตามมา รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบเช่นกันจึงประกาศทิศทางของประเทศไทยในอนาคตเรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นได้แสดงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวของประเทสชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างเข้มข้นทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ การวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ เพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสร้างระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electrical Vehicle; EV) ประเทศตัวอย่างที่สำคัญและมีการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ที่เข้มข้น คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการสนับสนุนที่เป็นระบบและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐบาลในการตั้งโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ของประเทศไทย ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระยะยาวและการกำหนดกลยุทธ์ในการสนับสนุนที่สำคัญ การสร้างตลาด (Demand creation) และการแสวงหาพันธมิตรความร่วมมือ
นอกจากนี้ NRI ยังได้นำเสนอถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนา Industrial 4.0 ของประเทศไทยอีกด้วย โดย NRI ได้แสดงข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบายนี้ของประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ industrial 4.0 ในปี 2013 และมีเป้าหมายให้ประเทศเยอรมันขยับไปเป็น Next generation manufacturing system ในปี 2036 โดยจะมีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลายอย่างเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้ ทั้งด้านการพัฒนา Sensor, AI, Data-format และ Communication security ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาให้เกิด industrial 4.0 อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ NRI ยังได้ยกตัวอย่างบริษัท EMAG ประเทศเยอรมัน ที่ได้ปรับเปลี่ยนการพัฒนาบริษัทจากการเป็นผู้ผลิตเครื่องจักร (machinery supplier) มาสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อภาคการผลิต (parts manufacture) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจในแนว horizontal Integration ในอุตสาหกรรม hardware แทนการพัฒนาธุรกิจไปในทิศทาง vertical extension อย่างในอดีต ที่มุ่งเน้นการผลิตเครื่องจักรให้มีหลากหลายรุ่นมากขึ้น รวมถึงยกตัวอย่างบริษัท SIEMEN ประเทศเยอรมัน ที่ทำการเข้าซื้อบริษัทด้านซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมาก โดยมีการลงทุนซื้อกิจการในบริษัทด้านซอฟต์แวร์ไปกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวน 350,000 ล้านบาท เพื่อสร้างให้บริษัท SIEMEN สามารถเป็น Integrate Virtual & Real manufacturing IoT ซึ่งการดำเนินงานแบบ horizontal integration ในด้านซอฟต์แวร์นี้ทำให้ SIEMEN ก้าวไปสู่การเป็น total solution provider สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน
NRI ได้ให้ประเด็นของผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงของ IoT ในขณะนี้เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. Globalization 2. Standardization/Modularization และ 3. Digitalization นั่นเอง สุดท้ายนี้ NRI ยังได้ผากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนนโยบาย Industrial 4.0 ไว้ดังนี้
1. ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการเริ่มขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้ เพื่อสร้างให้เป็นต้นแบบการพัฒนาด้าน IoT สำหรับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านบุคลากรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในธุรกิจนี้ที่พร้อมกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
2.ควรส่งเสริมให้เกิดเป็น IoT Industrial Park เพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงเป็นต้นแบบของการพัฒนาให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนต่อไป
3. ต้องเข้าใจว่าในอนาคต IoT จะมีอิทธิพลที่สูงมากในการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านโครงสร้างและระบบต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าด้านซอฟต์แวร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก
ข่าวโดย : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313