กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน 3 หน่วยงานประสานความร่วมมือ เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา

3 หน่วยงานประสานความร่วมมือ เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา

พิมพ์ PDF


          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์  เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร. นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช  หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันเปิด "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" หรือ Excellent Center for Drug Discovery:  ECDD" ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ณ ห้องประชุม 201 อาคารพรีคลินิก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559

 

        ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดี เราเห็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย TCELS ได้มาร่วมกันทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน ร่วมทั้งในระยะยาวจะช่วยลดภาระทางด้านงบประมาณในการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 2 หน่วยงานนี้ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทยสูงขึ้นตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีโรคใหม่ๆ และความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก หรือจากสังคมสูงอายุ จะทำให้ประเทศไทยสามารถจะยืนอยู่บนขาตัวเองได้มาขึ้น ลดการนำเข้า ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ หากเราทำได้สำเร็จก็สามารถจะขยายผลออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ด้วย
    

           ที่สำคัญคือองค์ประกอบต่างๆ ค่อนข้างมีครบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานทางวิชาการแล้ว ยังมีโรงพยาบาล มีโจทย์ มีสิ่งที่จะนำมาทดสอบวิจัยเชิงคลินิกได้ด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สามารถที่จะเชื่อมโยงหน่วยความรู้อื่นๆ รวมทั้งประสานให้เกิดการใช้ประโยชน์จริง หรือในทางธุรกิจ จะทำให้ได้ประโยชน์อย่างครบวงจร ที่สำคัญอีกประการคือมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงนักศึกษา ก็จะได้ประโยชน์จากที่นี่โดยการฝึกงานเรียนรู้เทคโนโลยีที่นำสมัยด้วย

 

 

          ดร.นเรศ  ดำรงชัย  ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งศูนย์ ECDD ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สามารถนำมาศึกษาพัฒนาเป็นเภสัชภัณฑ์ในการรักษาโรคหลายโรคที่การรักษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงต้นน้ำที่จำเป็นในการนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มาค้นหาให้เป็นตัวยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จึงได้มีบันทึกความเข้าใจ กับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกันจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" หรือ "Excellent Center for Drug Discovery: ECDD" เพื่อรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรคและการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา โดยใช้เทคโนโลยีด้านเซลล์ที่ทันสมัย และมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถค้นหาตัวยาได้ และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนายาในขั้นต่อไป
    

          ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าประเทศไทยมีรายจ่ายในด้านการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ถึงปีละกว่าแสนล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาได้เอง ยายางชนิดโดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง มีราคาสูงมาก ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราจะมีการวิจัยและพัฒนายาเองเพื่อลดรายจ่ายจากต่างประเทศ ตลอดจนสามารถส่งออกได้ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ประชาชาติมากขึ้น สามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ และยังจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางด้านการส่งเสริมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริให้มีงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมใหม่
 

   
   

 

           ด้าน รศ.ดร.สิทธิวัฒน์  เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการสนับสนุนการวิจัยที่ต่อเนื่อง และมากพอเพื่อให้เกิดการค้นพบยาใหม่ อีกทั้งยังขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินงานของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น นักเคมี แพทย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สาธารณรับประชาชนจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีการจัดตั้งระบบที่มีมตรฐานในระดับสากลเพื่อการเก็บรวบรวมสารเคมีที่สกัดจากสมุนไพร ทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่างๆ สารสังเคราะห์และสารคัดแปลงโครงสร้าง จากนักเคมีทั่งประเทศ การพัฒนาระบบการตรวจวัดฤทธิ์ทางยาของสารในระดับห้องปฏิบัติการ เช่น ระบบการทดสอบฤทธิ์ของสารกับเซลล์มะเร็งกว่า 100 ชนิด การศึกษาพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรีย และการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม ตลอดจนโรคอื่น ๆ ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถทำการทดสอบได้ปริมาณมากในเวลาที่สั้น โดยสารส่วนหนึ่งที่ทดสอบฤทธิ์ในการป้องกันและรักษาโรคเป็นสารองค์ประกอบในอาหาร อันจะทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นและสุขภาพ ซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามโครงการฟู้ดอินโนโพลิส หรือโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
    

        ศ.นพ.ปิยะมิตร  ศรีธรา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่ค้นพบฤทธิ์ของยาในระดับโมเลกุล แต่ไม่สามารถเข้าสู่ clinical trial ได้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังต้องการ National Clinical Research Organization (National CRO) เพื่อส่งเสริมงานวิจัยให้เข้าสู่ clinical trial ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย สามารถผลิตยาได้เอง ดังนั้น บทบาทของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการร่วมือกับ ECDD คือ พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของศูนย์ในส่วนของการนำสารที่ค้นพบฤทธิ์ทางยา ไปทดสอบในระดับ Clinical study ทั้งนี้รวมถึง firt-in-human phase I study, phase II และ III ตามลำดับไป  โดยในส่วนของ early phase clinical trial จะทำในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหลักและขยายความร่วมมือออกไปในส่วนของ phase II และ III ในลักษณะของ multicenter study ซึ่งรามาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนยาต่อไปในอนาคต
    

        ศ.นพ.สุรเดช  หงส์อิง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทยคือการมีทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านสมุนไพร และเมื่อผนวกกับระบบการวิจัยและพัฒนายาที่ได้มาตรฐานของศูนย์ ECDD ที่สามารถทำให้เข้าใจกลไกในการออกฤทธิ์ และวิธีการควบคุมมาตรฐานปริมาณตัวยาที่ออกฤทธิ์ในแต่ละสูตรตำรับให้คงที่ จึงทำให้เราได้เปรียบต่างชาติ และจะสามารถผลิตยาสมุนไพร่ได้ ซึ่งโปรดักแชมเปี้ยนที่สามารถจะพัฒนาเป็นยาสมุนไพรตัวแรก คือ ขิง ซึ่งภายใน 4 ปี น่าจะสามารถจดสิทธิบัตรและเป็นยาเม็คแรกของประเทศไทย เพื่อใช้บรรเทาอาการข้างเคียงจากยารักษาโรคมะเร็ง


Excellent Center for Drug Discovery
ชั้น 2 อาคาร PR คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
272 ถนน พระรามที่ 6,แขวง ทุ่งพญาไท
เขต ราชเทวี,กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 02201 5568-9
Website: ecdd.sc.mahidol.ac.th     E-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

ข่าวโดย : ปราโมทย์ ป้องสุธาธาร
ภาพโดย : นายเอกชัย สุนทรเดช
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :     อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน     Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป