เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ได้สะดวก รวดเร็ว และหนุนการทำวิจัยเพิ่มมากขึ้น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กระทรวงการคลัง เปิดช่องทางใหม่ ให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ได้ด้วยตนเอง (Self-Declaration) สำหรับโครงการวิจัยฯ ที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยการขอรับรองระบบบริหารการวิจัยฯ เป็นรายบริษัท แทนการรับรองโครงการวิจัยฯ เป็นรายโครงการแบบเดิม (Pre-approval) ซึ่ง สวทช. และ วว. จะทำหน้าที่ตรวจประเมินระบบบริหารการวิจัยฯ ตามข้อกำหนดที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกในการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศต่อไป ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ๔ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่เราจำเป็นต้องมีกลไกภาษี 300% เนื่องจากเป้าหมายของประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมายังไม่เคยทำได้ คือการทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้ลงทุนในการสร้างความรู้และนวัตกรรม ลงทุนวิจัยที่เพียงพอสำหรับประเทศที่มีประชากร 60-70 ล้านคน ข้อสรุปที่สำคัญที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือประเทศไทยจะต้องมีตัวเลขการลงทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม 1% ของ GDP
มาตรการภาษี 300% เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบาย 1% GDP นี้ ในปี 2557 ตัวเลขไตร่ขึ้นจาก 0.25% มาเป็น 0.47% ของ GDP เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาเราตั้งเป้าตั้งแต่ปี 2557 โดยมีมาตรการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1 จะพยายามทำให้ตัวเลข 0.25% หรือ 0.47% เพิ่มขึ้นเป็น 1% จากการสำรวจตัวเลขรวมกันระหว่างการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ในปี 2558 ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 0.60% ของ GDP และในปี 2559 นี้ อยู่ที่ประมาณ 0.70% ของ GDP เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2560 ส่วนของรัฐบาลกำลังจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะอยู่ที่ประมาณ 0.80% ของ GDP นโยบาย 1% ต้องการให้ภาคเอกชนนำ ในอดีตที่ผ่านมามาตรการภาษี 200% มีส่วนทำให้การลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศดีขึ้น 300% น่าจะดีขึ้นอีก
|
นายวิสุทธิ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเปิดช่องทางใหม่ให้เอกชนใช้สิทธิรับรองตามมาตรการยกเว้นภาษี 300% เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศมีการลงทุนทำวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบายนี้กำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายในปี 2564 วันที่เริ่มมาตรการภาษีนี้ (1 มกราคม 2558) มีภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเพิ่มแรงจูงใจสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เพิ่มเป็น 3 เท่า มาตรการนี้เป็นมาตรการแรกที่กระทรวงการคลังให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาหักเป็นรายจ่ายได้มากถึง 3 เท่า เพื่อเป็นช่องทางใหม่ให้เอกชนดำเนินการตามมาตรการนี้ได้อย่างสะดวก กระทรวงฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขด้วยวิธี Self-Declaration คือ
1. เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้าน
2. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเคยดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามละนวัตกรรม (RDMIS) และได้รับการขึ้นทะเบียนโดย สวทช. หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
3. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำรายละเอียดโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมฉบับเต็ม (Full Paper) รวมทั้งจัดเก็บบันทึกการวิจัย สรุปผล และรายงานการวิจัยไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจประเมินภายหลัง
4. โครงการที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก สวทช. แล้ว
5. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับการตรวจประเมินระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมฉบับเต็ม (Full Paper) รวมทั้งจัดเก็บบันทึกการวิจัย สรุปผล และรายงานการวิจัยไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจประเมินภายหลัง
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ได้กำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการรับรองโครงการพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปทางด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 จากการดำเนินงานมาจนถึงปี 2558 มีจำนวนผู้ประกอบการยื่นขอรับรองงานวิจัยเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 305 ราย และมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการที่เคยยื่นขอรับรองงานวิจัยในปีแรกกลับมายื่นขอซ้ำในปีต่อมา โครงการที่ยื่นขอรับรองทั้งสิ้น 3,236 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,808 ล้านบาท และได้มีการรับรองโครงการไปแล้ว 2,834 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 9,886 ล้านบาท โดยผู้ยื่นขอรับรองโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีทุนจดทะเบียนเกิน 200 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ธุรกิจขนาดกลาง ทุนจดทะเบียนเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท และกลุ่มขนาดเล็กมีจำนวนน้อย คือ กลุ่มธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยมีประเภทอุตสาหกรรมเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ เกษตร ยาและเคมีภัณฑ์ การก่อสร้างและวัสดุการก่อสร้าง กระดาษและการพิมพ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารและอาหารสัตว์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โลหะและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนผู้รับทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จำนวน 431 ราย
จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของภาคเอกชน ด้วยการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 598 พ.ศ.2559 กำหนดให้มีการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท ห้างร้าน หรือนิติบุคคล กรณีรายจ่ายเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีกรมสรรพากรได้รับการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาจากเดิม 2 เท่า เป็น 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2562 และประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 391 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2559 โดยกำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในการวิจัยพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้โดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัย หรือการใช้สิทธิรับรองตนเอง เรียกว่าวิธีการ Self-Declaration
|
ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า “วว. มีสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง (Certification Body; CB) ที่ให้บริการตรวจประเมินและรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล อาทิ ISO 9001, ISO 14001, OHSAS 18001, GMP, HACCP และ ISO 22000 เป็นต้น ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าการทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงานจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารการวิจัยฯ ให้มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่นำระบบนี้ไปประยุกต์ใช้ และเมื่อเชื่อมโยงในการใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% จะเป็นกลไกสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการผลักดันด้านการลงทุนงานวิจัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นต่อระบบเศรษฐกิจของชาติต่อไป”
|
เขียนข่าวโดย : ปราโมทย์ ป้องสุธาธาร
ภาพ : ภูมินทร์ ปั้นเล็ก
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313