![]() |
ภายหลังกิจกรรมเวทีเสวนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “NBT World Forum : ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา ได้มีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างกระชับและเข้าใจ
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเป็น 4.0 เริ่มต้นที่ 1.0 นั้นคือ การพัฒนาการเกษตร ซึ่งยังไม่ได้มองเรื่องของการนำเทคโนโลยีใด ๆ เข้ามาใช้ในยุคนี้มากนัก จากนั้นพยายามสอดรับกับกระแสโลกนำมาสู่ 2.0 คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเบา เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหารกระป๋อง ต่อมาเห็นว่าไทยควรจะสร้างอุตสาหกรรมเองในยุคนี้จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย แต่ก็มิอาจทนกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้ไทยเปลี่ยนผ่านสู่ 3.0 คือ เน้นเรื่องอุตสาหกรรมหนักที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันยุคนั้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก นำทุนและเทคโนโลยีมหาศาลเข้ามาในประเทศไทย แต่ข้อเสียคือ ไทยไม่ได้นำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาพัฒนาหรือต่อยอด ในที่สุดก็นำพามาสู่ 3 กับดัก 1. ความไม่สมดุล ทุ่มเทไปกับเศรษฐกิจโดยทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่สร้างสมดุลให้กับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 2. เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคมอย่างมากมาย เช่น คนจนกับคนรวย คนเมืองกับคนชนบท คนได้โอกาสกับคนด้อยโอกาส นำมาสู่ความรุนแรงเกิดเป็นสังคม 2 ขั้วในครั้งที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด และ 3. ไทยรวยกว่านี้ไม่ได้แล้ว หมายถึง เมื่อย้อนหลังกลับไป 50 ปี ไทยมีรายได้เติบโตในระดับปานกลางมาโดยตลอด แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาใหม่แต่ไม่เคยมีรัฐบาลใดใส่ใจทั้ง 3 กับดักนี้
“สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ เปลี่ยนจากรายได้ปานกลางไปยังรายได้สูง ต้องเกิดการกระจายไปทุกภาคส่วน ไม่กระจุกที่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต้องควบคู่ไปกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นประเทศไทย 4.0 คือ การปฏิรูปสิ่งเดิมอย่างเป็นรูปธรรมสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยตัวเอง เพื่อให้ยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองโดยผ่านเทคโนโลยีได้” ดร.สุวิทย์ กล่าว
![]() |
นั้นหมายความว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล้วนมีส่วนช่วยผลักดันประเทศไทยสู่ ประเทศไทย 4.0 ทั้งนั้น ในวันเดียวกัน ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้กล่าวถึงประเด็นเมืองนวัตกรรมอาหารกับการก้าวอย่างไรสู่ประเทศไทย 4.0 ไว้บนเวทีเสวนาไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน
ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการฯ สวทน. กล่าวว่า กระทรวงวิทย์ฯ เป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนครั้งนี้ เนื่องจากการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 มีเป้าหมายครอบคลุม 5 ด้านสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 โดยในที่นี้จะยกตัวอย่างในด้านที่ วท.มีบทบาทเกี่ยวข้อง คือ ด้านอาหารและการเกษตร เช่น สตาร์ทอัพไทยแลนด์ (Start up) โดยขณะนี้กำลังจะกระจายสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกด้านอย่างเต็มที่ พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพว่า หากไม่รู้จักกับคำว่าล้มก็ไม่รู้จักคำว่าประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากนั้น คือ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่มาจากองค์ความรู้สู่นโยบายที่นำมาปฏิบัติจริง โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาสู่การแปรรูป ถึงจะแข่งขันกับคู่แข่งและวิกฤตโลกได้ และหากวิเคราะห์ถึงจุดแข็งของไทยพบว่ายังมีอยู่มาก เพราะไทยเป็นอันดับ 14 การเป็นครัวของโลก แต่กลับกันไทยไม่มีศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร ทั้งที่หลายฝั่งจากทั่วโลกได้มีศูนย์นวัตกรรมอาหารไปแล้ว เช่น ฝั่งอเมริกาเหนือ ฝั่งยุโรป
“กระทรวงวิทย์ฯ เห็นควรให้เกิดเมืองนวัตกรรมอาหาร สู่นโยบายและปฏิรูปประเทศไทยจากฐานเกษตรสู่การแปรรูปโดยใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น โดยรัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริมทุกส่วนและจึงดึงเอกชนมาลงทุนของการวิจัยโดยรัฐฯทำหน้าที่สนับสนุน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งให้เมืองนวัตกรรมอาหารนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 200 ไร่และเตรียมพร้อมสำหรับการวิจัยและพัฒนาจากทุกภาคส่วน สุดท้ายผลที่ได้คือมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นจะกลับไปยังห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) จะตกอยู่กับเกษตรกรในที่สุด” ดร.กิติพงศ์ กล่าว
อาจสรุปได้ว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นการปฏิรูปประเทศเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดัก 3 สิ่ง คือ ความไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำ และรายได้ประเทศที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว โดยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ซึ่งหลายหน่วยงานกำลังเดินหน้าให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร และอีกหลายหน่วยงานที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ประเทศไทย 4.0 ให้เร็วที่สุด
ข่าวโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313