30 มิถุนายน 2559 - กรุงเทพฯ: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ แอลดี (Learning Disabilities : LD) โดยบูรณาการ การใช้ซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนในการเรียนการสอน” ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้พัฒนาชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ พร้อมทั้งร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำมาถ่ายทอดความรู้ให้กับครูผู้สอนและนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ทั่วประเทศไทย ในรูปแบบการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ โดยจำลองสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มุ่งเน้นและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมี นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานร่วม ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมงานดังกล่าว




นางสาวเสาวณี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่หลักคือ วางแผน ส่งเสริม และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ก้าวหน้า ตอบสนองกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาประเทศ หรือพัฒนากระบวนการวิจัยให้มีคุณภาพ มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ในส่วนของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯมีกิจกรรมหลายกิจกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศ เช่น เรื่อง การเรียนการสอน STEM เป็นต้น สำหรับการศึกษาพิเศษเพื่อผู้ด้อยโอกาส กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ คือ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ สังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อคนพิการในหลายมิติ เช่น เทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีเพื่อบริการสาธารณะที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่คนพิการให้ดำรงชีวิตในสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข ในด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในด้านการสนับสนุน การวิจัยพัฒนาเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษได้มีแต้มต่อในการศึกษา เป็นการสร้างโอกาสที่ทัดเทียมกับนักเรียนอื่นๆ เพื่อเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป


พลเอกสุทัศน์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่ผู้เรียนทุกคนตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัยจนถึงระดับระดับอุดมศึกษา โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นผู้เรียนประเภทหรือกลุ่มไหน สำหรับกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส กระทรวงศึกษาฯ มีสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาฯ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นสวัสดิการแก่นักเรียนพิการที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนเหล่านี้
ในกรณีของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาฯ เล็งเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นนักเรียนกลุ่มใหญ่ในโรงเรียนเรียนร่วมที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้มีความสามารถทัดเทียมกับเด็กทั่วไปได้เป็นอย่างดี การมีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมาเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาความสามารถเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนกลุ่มนี้มาก กระทรวงศึกษาฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ เนคเทค สวทช. ได้พัฒนาชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องช่วยพัฒนาการเขียนให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ ที่ผ่ามมากระทรวงศึกษาฯ ร่วมมือกับ สวทช. ขยายผลการนำซอฟต์แวร์ไปใช้ในโรงเรียนเรียนร่วมที่มีนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้เรียนร่วมได้จำนวน 934 โรงเรียน ในปี 2556-2558 และในปีนี้ ยังจะขยายผลไปจัดกิจกรรมในพื้นที่แต่ละจังหวัดอีก 66 จังหวัดๆ ละ 35 คน รวม 2,310 โรงเรียน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.44 ของโรงเรียนที่มีนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้เรียนร่วม กระทรวงศึกษาฯจึงมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ซึ่งนอกจาก 66 จังหวัดที่จะได้พัฒนาศักยภาพแก่เด็กที่บกพร่องในการเรียนรู้ในปี2559 นี้แล้ว ในปี 2560 สวทช.ยังจะร่วมมือขยายผลเพิ่มอีก 11 จังหวัดให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วทั้งประเทศโดยให้สิทธิกับโรงเรียนโดยไม่จำกัด พร้อมทั้งขอให้มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพราะครูเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือเด็กได้ต่อไป


ดร.ชฎามาศ กล่าวว่า ปัญหาของนักเรียนที่ บกพร่องทางการเรียนรู้ ทั่วประเทศที่มีมากถึง 316,258 คน คิดเป็น 4.4 % ของนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาที่พบในเด็กเหล่านี้ มีหลายรูปแบบ เช่น เขียนหัวกลับ ตัวกลับด้านแบบกระจก หรือกลับบนลงล่าง เขียนลายมือยุ่งเหยิง ไม่สามารถจะอ่านได้ ซึ่งเกิดจากการบกพร่องในสมองที่ไม่สามารถจะแปรผลข้อมูลได้เหมือนคนปกติ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ จึงต้องใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้


ทั้งนี้ในปี 2556 - 2558 ที่ผ่านมา สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาสำหรับคนพิการ กระทรวงศึกษาฯ จำนวนกว่า 40 ล้านบาท และได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้การใช้งานชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียน โดยจัดกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน ด้วยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับครูที่ต้องสอนนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 934 โรงเรียน และในปีนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต มีการขยายผลการนำชุดซอฟต์แวร์ไปใช้ในโรงเรียนในพื้นที่อีก 66 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 60 ล้านบาท
เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สวทช. โดย เนคเทค ได้ผลิตชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1.โปรแกรมเลือกศัพท์ไทย (Thai Word Prediction) มีคุณสมบัติคือ ช่วยเดาคำศัพท์เป้าหมายและเติมเต็มคำศัพท์ให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งเดาคำศัพท์คำต่อไปโดยจะมีรายการคำศัพท์แสดง ผู้ใช้สามารถเลือกคำศัพท์จากการฟังเสียงอ่านได้ 2.โปรแกรมค้นหาศัพท์ไทย (Thai Word Search) มีคุณสมบัติคือสามารถพิมพ์คำศัพท์ใดๆ เพื่อค้นหาคำศัพท์ที่เขียนถูกต้อง โดยโปรแกรมจะแสดงรายการคำศัพท์ที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงเพื่อให้เลือก ผู้ใช้สามารถเลือกคำศัพท์จากการฟังเสียงอ่านได้ 3.โปรแกรมตรวจคำผิดไทย (Thai Spell Checker) มีคุณสมบัติคือช่วยตรวจสอบงานพิมพ์ว่ามีคำที่สะกดผิดหรือไม่ หากพบที่ผิด โปรแกรมจะแสดงว่ามีคำศัพท์ใดบ้างในเอกสารที่อาจจะผิด และแสดงรายการคำที่ถูกต้องให้เลือกพร้อมการอ่านออกเสียง และโปรแกรมพิมพ์ไทย (Thai Word Processor) มีคุณสมบัติพิเศษ ประกอบด้วยฟังก์ชันเลือกศัพท์ไทย ฟังก์ชันค้นหาศัพท์ไทย และฟังก์ชันตรวจคำผิดไทย นอกจากนี้โปรแกรมพิมพ์ไทยจะมีคุณสมบัติเพิ่มเติมคือผู้ใช้สามารถเลือกให้โปรแกรมอ่านข้อความได้ในระดับคำ ระดับประโยคและย่อหน้า พร้อมทั้งแสดงแถบสีขณะอ่านออกเสียง


สำหรับการดำเนินงานของโครงการนี้ สวทช. และ สพฐ. ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาครัฐ 4 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการถ่ายทอดความรู้ โดยการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 15 จังหวัด 2. สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน รวม 21 จังหวัด 3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 15 จังหวัด และ 4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 15 จังหวัด โครงการนี้มีเป้าหมายที่ให้ครูและนักเรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้จำนวนทั้งสิ้น 9,240 คน แบ่งเป็น ครู 4,620 คน และนักเรียน 4,620 คน จาก 2,310 โรงเรียน ใน 66 จังหวัด สำหรับครูที่ได้รับการอบรมนี้ จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะครูในโรงเรียนของตนเอง ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขยายโอกาส สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เพื่อช่วยให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ร่วมกับ กระทรวงศึกษาฯ มอบงบประมาณการสนับสนุนในการจัดกิจกรรมค่ายการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางด้านการเรียนรู้ แก่ศูนย์ประสานงานภูมิภาคทั้ง 4 แห่งอีกด้วย
ที่มาข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทรศัพท์ 0-2564-7000 โทรสาร 0-2564-7001-5
Call Center 0-2564-8000 E-mail:
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพข่าวและวีดิโอ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร ,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail:
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313