กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน TCELS เปิดตัว 3 บริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกติวเข้มตัวต่อตัวกับกูรูด้านการลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ เตรียมจัดต่อปีหน้าเพราะเสียงตอบรับดี

TCELS เปิดตัว 3 บริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกติวเข้มตัวต่อตัวกับกูรูด้านการลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ เตรียมจัดต่อปีหน้าเพราะเสียงตอบรับดี

พิมพ์ PDF

 

 

       กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ประกาศผลบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โปรแกรม Mini Mentorship Life Science 2016 เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับการติวเข้มแบบตัวต่อตัวจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเข้าสู่ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
 

             นายกำจร พลางกูร ที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า จากความสำเร็จของการจัดงาน สตาร์อัพ ไทยแลนด์ 2016 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจ ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจ และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เข้าร่วมงานถึงเกือบ 30,000 คน โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพหลัก ในส่วนของ TCELS เข้าร่วมจัดกิจกรรมในงานดังกล่าว และเดินหน้าผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมองเห็นโอกาสและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการแพทย์แห่งอนาคตที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เห็นได้จากการเข้าร่วมงานประชุมวิชาการและการแสดงนิทรรศการ ด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ไบโอ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีนักลงทุน ผู้ประกอบการ นักวิจัย จากทั่วโลกเข้าร่วมอย่างมากมายในแต่ละปี
 

          น.ส.ทวีพร เกตุอร่าม ผู้จัดการโปรแกรม TCELS กล่าวว่า ด้วยเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว TCELS จึงได้ประกาศรับสมัครบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อคัดเลือกให้เข้าสู่โปรแกรม Mini Mentorship Life Science 2016 หรือ โปรแกรมพี่เลี้ยงที่จะดูแลชี้แนะถึงหนทางสู่การประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์  โดยมีผู้เชี่ยวชาญในระดับแนวหน้าของโลก มาติวเข้มแบบตัวต่อตัว ถึง 3 เดือนเต็ม ซึ่งแม้จะเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก แต่มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้ามาถึง 13 บริษัท โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกให้เหลือ 3 บริษัท เพื่อเข้าสู่โปรแกรมดังกล่าว

“ต้องเรียนว่าทั้ง 13 บริษัทที่สมัครเข้ามา มีความน่าสนใจทั้งสิ้น คณะกรรมการที่คัดเลือกค่อนข้างลำบากใจ เนื่องจากแต่ละบริษัทก็มีความโดดเด่นแตกต่างกัน แต่ด้วยเป็นปีแรกจึงรับได้จำนวนจำกัด สำหรับผู้ได้รับคัดเลือก จะได้เข้ามาเรียนตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้บริหารระดับซีอีโอของบริษัทเวนเจอร์ในระดับแนวหน้าของโลก เป็นเวลา 3 เดือน โดยจะได้ฝึกภาคปฏิบัติ การปั้นธุรกิจแบบรอบตัว การมองตลาดแนวรุก การบริหารความเสี่ยง และยังมีโอกาสได้ฝึกการเจรจาธุรกิจ นำเสนอธุรกิจต่อนักลงทุนเพื่อได้ทั้งที่ปรึกษาและวิธีการ pitching ให้โดนใจนักลงทุนเพื่อขยายบริษัท ให้เข้าลู่แข่งขันระดับอาเซียน และระดับโลกต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทที่พลาดการคัดเลือกในปีนี้ในปีถัดไป TCELS ก็จะมีกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้อีกเพื่อการขยายผลสู่การพัฒนาให้ได้ 8 บริษัท อีกทั้งยังมีกิจกรรม ส่งเสริมอีกมากมายที่จะทยอยออกมา อยากให้ทุกคนคอยติดตามเพราะเราจะจัดอย่างต่อเนื่อง” น.ส.ทวีพร กล่าว

 
            สำหรับบริษัทที่ได้รับคัดเลือกนั้นคือ บริษัท Wynn Global Group นำนาโนเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของกรดไขมัน จนเกิดเป็นยารักษาสิวที่สามารถยับยั้งการเกิดสิวได้ภายใน 24 ชั่วโมง งานวิจัยนี้ได้ศึกษาโดยนักวิจัยคนไทย เริ่มต้นศึกษาจากห้องทดลองที่สหรัฐอเมริกาด้วยทุนสมเด็จพระจางเจ้าสิริกิติ์ 
 
        บริษัท SkinLab Asia ให้บริการติดต่อประสานงานการทดสอบผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ในอาสาสมัคร โดยใช้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบริการอนุมัติการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมก่อนการวิจัย การทดสอบสารสำคัญที่ใช้ในการผลิตยาและเครื่องสำอางบนเซลล์ผิวหนังสังเคราะห์ (3D Restructured Human Epidermis – RHE)  ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดแทนการใช้สัตว์ทดลอง ที่เริ่มมีกระแสการต่อต้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา 
 
          บริษัท Thai Chemical Supplies เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นในการพัฒนาและผสมผสานนวัตกรรมจากธรรมชาติ 100% อย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ส่งประกวดกับ TCELS คือ ไรซ์ เนเชอรัลแฮร์เซรั่ม และ ไรซ์ เนเชอรัลแฮร์เอสเซนส์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหลักของผมร่วง และ สร้างผมใหม่ภายใน 2 เดือนซึ่งเป็นงานวิจัยจากข้าวหอมมะลิไทย โดยคนไทย ที่ชนะการประกวดรางวัลนวัตกรรมในเวทีระดับโลก 
 
        ด้านนายดั๊กลาส อับบรัมส์ (Douglas Abrams) ซีอีโอบริษัทเอ๊กซ์ปาร่า จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทในการให้คำปรึกษาและกูรู ผู้ชี้แนะและผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพ จนมีบริษัทสตาร์ทอัพออกมาดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ทั้ง 3 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือก ได้แสดงให้เห็นศักยภาพและทีมบริหารที่แข็งแกร่ง ภายใต้เทคโนโลยีซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาด และมีช่องทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งในการให้การช่วยเหลือจะไม่หยุดแค่การให้คำปรึกษาในช่วงต้นนี้เท่านั้น แต่จะดูแลติดตามผลหลังจบโปรแกรมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :     อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป