กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ U.S. Environmental Protection Agency (US EPA) สหรัฐอเมริกา และ Environmental Protection Administration Taiwan (Taiwan EPA) ไต้หวัน หน่วยงานที่มีบทบาทในการศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศระดับนานาชาติ และ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการและกิจกรรมเยาวชน “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางอากาศ” ตามโครงการ Kids Making Sense เน้นสอนให้เยาวชนรู้จักเก็บข้อมูล วิจัย และติดตามผลเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศรอบตัวในรูปแบบวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมฝึกปฎิบัติเก็บตัวอย่างจริงและวิเคราะห์ผลบริเวณโดยรอบสามย่าน สีลม และลุมพินี ในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน และ 24 มิถุนายน 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัญหาหลักที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ส่งผลให้เกิดมลภาวะอย่างต่อเนื่องจากการเผาผลาญน้ำมันจากยานพาหนะ การเผาขยะ เผาป่า หรือแม้กระทั่งการจุดธูปเทียน ล้วนก่อให้เกิดควันในอากาศที่มนุษย์ต้องใช้ในการหายใจเพื่อการดำรงชีวิต การสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและการลดมลภาวะ จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาและเห็นคุณค่า สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำโดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ อพวช. เองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกำหนดให้มีการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนและสังคมเพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ ที่ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันสอดส่องดูแลในทุกเรื่อง
![]() |
![]() |
อพวช. ซึ่งมีภารกิจต่อสังคมในการเป็นหน่วยงานสร้างความตระหนัก เห็นว่าการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาทักษะกระบวนการคิด สร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ และการทดลองปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อให้เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ จึงได้ร่วมกับองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อม U.S. Environmental Protection Agency (US EPA) สหรัฐอเมริกา และ Environmental Protection Administration Taiwan (Taiwan EPA) ไต้หวัน และInternational Environmental Partnership Program ซึ่งเป็นองค์กรที่ริเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางอากาศระดับนานาชาติ จัดอบรมเชิงปฎิบัติการและกิจกรรมเยาวชน “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางอากาศ” ตามโครงการ Kids Making Sense เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ หาสาเหตุ ปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รู้จักใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยอาศัยการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่อยู่อาศัยและบริเวณใกล้เคียงอย่างถูกต้องมีแบบแผนเป็นที่ยอมรับ เพื่อนำมาวิจัย และติดตามผล ในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science)
โดยกิจกรรมจะจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรก อพวช. ร่วมกับ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดกิจกรรมในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. สามย่าน กรุงเทพฯ โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าร่วม ซึ่งจะได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลปริมาณมลพิษในอากาศจริง ใน 5 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย วัดหัวลำโพง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามเซ็นเตอร์ สถานีรถไฟใต้ดินสวนลุมพินี และสถานีรถไฟใต้ดินสีลม
หลังจากนั้น อพวช. ร่วมกับ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงโดยจะลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย เชิงดอยสุเทพ ประตูท่าแพ สนามบินเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และค่ายกาวิละ ทั้งนี้ข้อมูลมลพิษทางอากาศที่เก็บจากการลงพื้นที่จริงทั้ง 2 ครั้ง จะมีการนำมาอภิปรายผล และใช้เป็นฐานข้อมูลให้นักวิทยาศาสตร์นำไปวิเคราะห์ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ข่าวโดย : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.)
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน Facebook: sciencethailand
Call center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313