(วันศุกร์ที่ 9 มกราคม 2552) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ เนื่องในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ เรื่อง “สุริยุปราคาในเมืองไทย” โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเปิดการเสวนา พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาตร์แห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ร่วมให้ความรู้ในเวที ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลายท่าน โดยเฉพาะนักเรียน และอาจารย์ คงทราบกันบ้างแล้วว่า ในปี 2552 นี้ จะมีปรากฎการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นหลายครั้ง และยังเป็นปีดาราศาสตร์สากลอีกด้วย จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ร่วมมือกับกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดจัดกิจกรรมเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านดาราศาสตร์ แก่นักเรียน เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป
ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ปี 2552 เป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งที่องค์การ ยูเนสโก และ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลยกย่องให้เป็นปีดาราศาสตร์สากล โดยขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆทั่วโลกให้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองปีดาราศาสตร์สากลดังกล่าวนี้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลตั้งแต่ปี 2549 จึงให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมปีดาราศาสตร์สากลขึ้น โดยเฉพาะในปี 2552 นี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้วางแผนที่จะจัดกิจกรรมต่างๆตลอดทั้งปี โดยจะมีกิจกรรมเด่นหลายกิจกรรมอาทิ The World at Night และ IYA BLAST ที่ทางสถาบันฯจัดร่วมกับสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล โครงการสถาปนาจุดสำคัญทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย กิจกรรมประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ รางวัลบุคคลดีเด่นทางดาราศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2552 ยังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทางดาราศาสตร์หลายปรากฏการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดสุริยุปราคาที่เห็นได้ในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ในวันที่ 26 มกราคม 2552 และ วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจะได้จัดกิจกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษาเครือข่ายทั่วประเทศในการสังเกตการณ์และให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทั้ง 2 ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เพื่อฉลองปีดาราศาสตร์สากลอีกด้วย
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 20 มกราคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์สารสนเทศและศูนย์ดาราศาสตร์ ที่กิโลเมตร 31 บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ดาราศาสตร์แห่งแรกในเอเชีย และจะทรงเสด็จเยี่ยมชมหอดูดาวแห่งชาติ บนยอดดอย อินทนนท์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2552 พร้อมกันนี้จะติดตั้งกล้องดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งจะติดตั้งและใช้งานในเดือนเมษายน 2553
ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 12 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม 2552 ถึง มกราคม 2553 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนถึง 3 ครั้งในวันที่ 26 มกราคม 2552, 22 กรกฏาคม 2552 และ 15 มกราคม 2553
โดยปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 26 มกราคม 2552 จะเป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน ซึ่งจะมองเห็นได้ตามเส้นทางที่พาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย และตะวันตกของอินโดนีเซีย ส่วนสุริยุปราคาบางส่วนจะมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามเส้นทางที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ทางตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้ มาดากาสการ์ ออสเตรเลีย อินเดียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศไทยในวันที่ 26 มกราคม 2552 นี้จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนและสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาค โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน ที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 15.53 น. และสิ้นสุดเหตุการณ์
ในเวลา 17.58 น. ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดในภาคใต้ คือ ประมาณ 2 ชั่วโมง 22 นาทีที่จังหวัดนราธิวาส โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 54.9 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์
ส่วนในวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เป็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวง โดยเส้นทางเงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ส่วนสุริยุปราคาบางส่วนเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามเส้นทางที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน ได้แก่ เอเชียตะวันออกทั้งหมด อินโดนีเซีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้กินเวลานานที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ 6 นาที 39 วินาที ที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน และสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาค โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน ที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 07.06 น. และสิ้นสุดเหตุการณ์ในเวลา 09.08 น. ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดในภาคเหนือ คือ ประมาณ 2 ชั่วโมง 12 นาทีที่จังหวัดเชียงราย โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์
ตารางแสดงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาในเมืองไทย, 26 มกราคม 2552
จังหวัด |
เริ่มบัง (น.) |
บังมากที่สุด (น.) |
สิ้นสุดการบัง (น.) |
% การบัง |
1.เชียงราย |
16.08 |
17.02 |
17.52 |
17.0 |
2.แม่ฮ่องสอน |
16.07 |
17.02 |
17.52 |
16.4 |
3.เชียงใหม่ |
16.05 |
17.02 |
17.53 |
18.8 |
4.ลำปาง |
16.04 |
17.02 |
17.54 |
20.1 |
5.พิษณุโลก |
16.00 |
17.01 |
17.56 |
24.6 |
6.อุดรธานี |
16.00 |
17.02 |
17.56 |
26.4 |
7.ขอนแก่น |
15.58 |
17.01 |
17.57 |
29.0 |
8.อุบลราชธานี |
15.56 |
17.01 |
- |
34.1 |
9.นครราชสีมา |
15.55 |
17.00 |
17.58 |
32.0 |
10.นครสวรรค์ |
15.57 |
17.01 |
17.57 |
27.4 |
11.ลพบุรี |
15.55 |
17.00 |
17.58 |
30.5 |
12.กาญจนบุรี |
15.53 |
16.59 |
17.58 |
30.4 |
13.กรุงเทพ |
15.53 |
16.59 |
17.58 |
33.0 |
14.ฉะเชิงเทรา |
15.52 |
16.59 |
17.59 |
35.0 |
15.ประจวบคีรีขันธ์ |
15.48 |
16.58 |
17.59 |
37.0 |
16.สุราษฎร์ธานี |
15.42 |
16.56 |
17.59 |
43.9 |
17.นครศรีธรรมราช |
15.41 |
16.55 |
18.00 |
46.4 |
18.ภูเก็ต |
15.39 |
16.54 |
17.59 |
45.7 |
19.ตรัง |
15.39 |
16.54 |
18.00 |
48.2 |
20.สงขลา |
15.39 |
16.54 |
18.00 |
51.0 |
21.นราธิวาส |
15.38 |
16.54 |
18.00 |
54.9 |
หมายเหตุ
(-) ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วที่เวลา 17.56 น. ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุด
แผนที่แสดงการเกิดสุริยุปราคาในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย วันที่ 26 มกราคม 2552
ท่านสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th