กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 30 หมู่บ้าน เพื่อสร้างเงิน สร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กรอบการดำเนินงาน ดังนี้ 1. เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ 2. ลดรายจ่ายของประชาชน และ 3. สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามนโยบาย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy ของรัฐบาล และการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
วันที่ 9 ตุลาคม 2552 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฝ่ายการเมือง แถลงว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้นำนโยบาย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy ของรัฐบาล มาเป็นกรอบในการดำเนินการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 30 หมู่บ้าน โดยเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ลดรายจ่าย/ลดต้นทุน และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แนวคิดที่จะนำทุนทางความคิด/ความคิดสร้างสรรค์ ทุนทางวัฒนธรรมและความเป็นไทย มาเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
ตามบัญชาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผลงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำไปขยายผลต่อยอดและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน ทั้งอุตสาหกรรม พาณิชย์ และเกษตร โดยการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้เสนอให้มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ภายใต้กลไกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) เพี่อเชื่อมโยงและสอดคล้องกับ กรอ. ใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 และเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม ในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในการประชุม กรอ. วท. ครั้งที่ 1/2552 มีมติเริ่มต้นให้เตรียมจัดตั้งบริษัทเพื่อเลือกและศึกษาผลงานวิจัย ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถนำไปใช้พัฒนาภาคการผลิตในเชิงธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในการลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าทางการผลิต โดยใช้กลไกของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการดำเนินการ อาทิ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Assistance Program : iTAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศในทุกภาครวม 9 แห่ง และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่หลากหลาย ได้แก่ สิ่งทอ อาหารและเกษตร ไม้และเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซอฟต์แวร์ การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น
ในการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เน้นรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือกับ ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน เช่น โครงการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน อาทิ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนให้กับหมู่บ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่แต่เดิมประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่การเกษตร 3,800 ไร่ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการ น้ำได้คุ้มค่าให้กับชุมชน โดยเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในชุมชน และสนับสนุนการดำเนินงานของหมู่บ้าน เช่น เครื่องอ่านค่าพิกัด GPS การใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม การใช้โปรแกรมเอ็กเซลสำหรับแผนการผลิตที่สอดรับกับการจัดการน้ำ ทั้งแผนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำ ต้นทุน และแผนการเพาะปลูก การทำเกษตรแบบผสมผสานทำให้เกิดรายได้ประจำ สำหรับการลดรายจ่าย ได้แก่ การใช้เกษตรอินทรีย์ ระบบน้ำหยด พืชหมุนเวียน เป็นต้น จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2551 มีครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1,294 หมู่บ้าน ประหยัดค่าใช้จ่ายจากโครงการน้ำดื่มโรงเรียนได้ถึง 1,350,000 บาท ชุมชนมีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 4,800 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ในการประชุม World Economic Forum (WEF) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการนำเสนอผลงานความสำเร็จด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำชุมชน ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 200 โครงการ ซึ่งมีผลงานจากประเทศไทย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ชุมชนบ้านป่าสักงาม จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนบ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งกับภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินงานผ่านโครงการคลินิกเทคโนโลยี หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการวิทยาศาสตร์ย้อนรอย ซึ่งมีงบประมาณรวมกันเกือบ 200 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ผลงานวิจัยพัฒนาของกระทรวงฯ สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาจาก 0.25% เป็น 1% ตามที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้บนพื้นฐานของนโยบาย Creative Economy และเศรษฐกิจพอเพียง ดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในชุมชนอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ จาก 100 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 350 กิโลกรัมต่อไร่ และเพิ่มรายได้ ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชหลังการทำนา ได้แก่ ข้าวสาลี มะเขือเทศพันธุ์สแน็กสลิม (มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ รสชาติดี เหมาะสำหรับรับประทานผลสด) ซึ่งสามารถสร้างรายได้ปีละประมาณ 100,000 บาท และส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ด เพื่อเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้ง ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่ระบบเกษตรธรรมชาติ ทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในกลุ่ม ประมาณ 20,000 บาท ในส่วนของการลดรายจ่าย คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานชีวมวล ได้แก่ การผลิตและประยุกต์ ใช้เตาประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการทำบัญชีครัวเรือน ส่วนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการแปรรูปชาข้าวสาลี ที่มีผลวิจัยว่ามีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิตได้ ซึ่งทำรายได้ปีละ 200,000 บาท
เขียนข่าว : อภิญญา ตันติรังสี
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร 118,120