กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ เร่งสปีดเต็มสูบเมืองนวัตกรรมอาหาร รวมพลังครั้งประวัติศาสตร์ ผนึก 9 หน่วยงานรัฐ 13 บริษัทเอกชน 12 มหาวิทยาลัย และ 1 สมาคม ปักธงเป็นรูปธรรมกลางปีนี้ พร้อมขยายปีกสู่ภูมิภาคในอนาคตอันใกล้

กระทรวงวิทย์ฯ เร่งสปีดเต็มสูบเมืองนวัตกรรมอาหาร รวมพลังครั้งประวัติศาสตร์ ผนึก 9 หน่วยงานรัฐ 13 บริษัทเอกชน 12 มหาวิทยาลัย และ 1 สมาคม ปักธงเป็นรูปธรรมกลางปีนี้ พร้อมขยายปีกสู่ภูมิภาคในอนาคตอันใกล้

พิมพ์ PDF

  

     ผู้ร่วมลงนาม MOU Food Innopolis
 
      กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักในการเดินหน้าโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู๊ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยให้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สถาบันอาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดหาสิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจ รวมทั้งมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน เพื่อดึงดูดบริษัทอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
     เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำของเมืองไทยจำนวน 13 บริษัท หน่วยงานภาครัฐ 9 แห่ง มหาวิทยาลัย 12 แห่ง และอีก 1 สมาคม เพื่อขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดภายในกลางปีนี้ โดยการลงนามดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงานประสานงานเมืองนวัตกรรมอาหาร อาคารอุทยานนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี  
 

        ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
 
       ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวขอบคุณในความร่วมมือ ร่วมพลัง ในการสร้างจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอาหารในไทย  ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสเดินทางไปที่ประเทศอิตาลี ไปในพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์อาหาร ผมเห็นการเติบโตและเห็นความร่วมมือของหอการค้ากับภาคเอกชน จึงเกิดความคิดความตั้งใจว่าในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นในเมืองไทยให้ได้ และที่สำคัญไม่ใช่แค่การตั้งอุตสาหกรรม เอาโรงงานมาประกอบ แต่มันคือการนำทุกส่วนที่สำคัญในการการสร้างนวัตกรรมให้มารวมกัน เหมือนเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ แหล่งรวมการลงทุน แหล่งรวมของพลังทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น โดยการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตให้สามารถยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการยกระดับมูลค่าอาหาร และต้องทำให้เอกชนเกิดการตื่นตัว เกิดการรวมพลังกับองค์ความรู้ มหาวิทยาลัย มาสร้างสิ่งใหม่ๆ โดยเชื่อมโยงถึง SME ภาคการเกษตร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของฟู้ดอินโนโพลิส  ที่สำคัญจะต้องไม่มีความเป็นเจ้าของ ต้องเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทั้งหมดเข้ามาร่วม เพื่อก่อให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้นใหม่ และเปลี่ยนจากนวัตกรรมเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ บ่มเพาะงาน หาเงินทุน ส่งต่อให้ภาคเอกชน ส่งต่อรายได้ให้เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาการในมหาวิทยาลัย วันนี้นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทย เพราะเป็นวันที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคมหาวิทยาลัย 3 แห่งมารวมตัวกัน สตาร์ทอัพ ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ในขณะนี้คือนโยบายของรัฐบาลคือนโยบายของพลังที่มีสมอง และเป็นแนวทางแห่งอนาคตของประเทศ ที่จะไม่เดินตามคามต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการเดินตามแนวทางที่มีการวางรากฐานของอนาคตให้กับประเทศ 
 
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
 

    ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ฟู๊ดอินโนโพลิสวางเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมด้านอาหารที่สอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก ซึ่งครอบคลุมถึงอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารฟังก์ชั่น เช่น อาหารฟังก์ชั่นและโภชนเภสัชภัณฑ์ สารปรุงแต่งอาหารและสารสกัดทางโภชนาการ ผลิตภัณฑ์ไขมันและน้ำมันเพื่อสุขภาพ ฯลฯ อาหารพิเศษเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารฮาลาล อาหารโคเชอร์ อาหารสำหรับผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ ฯลฯ ผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อาหารทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคุณภาพสูงเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหาร ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้คุณภาพสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ออร์กานิก ฯลฯ และกิจการสนับสนุนนวัตกรรมอาหารอย่างครบวงจร เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ การออกแบบและการพิมพ์ บริการที่ปรึกษานวัตกรรม ฯลฯ

 

     บรรยากาศภายในงาน
 
        ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระหว่าง 3 ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารในครั้งนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของการทำงานในรูปแบบที่อาศัยกลไกประชารัฐ ตามแนวทางของรัฐบาล และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจับมือกันระหว่างเอกชน รัฐ และสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ซึ่งหลังจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะเกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นระหว่างหน่วยงานที่ร่วมลงนาม เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของเมืองนวัตกรรมอาหารให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ นอกจากนี้ยังมีการหารือเพื่อความร่วมมือกับบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งจะมีการลงนามในโอกาสต่อไป
 
     บรรยากาศภายในงาน
 
    สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ประกอบด้วย บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อาหารสากล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ในส่วนของหน่วยวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหาร) และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ)   
 
บรรยากาศพิธีลงนามความร่วมมือ
 
  ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) และกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสถาบันอาหาร 
 
รองนายกรัฐมนตรี เดินชมนิทรรศการภายในงาน
 
     ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขยายขอบเขตของเมืองนวัตกรรมอาหารสู่ภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ โดยหวังว่าเมืองนวัตกรรมอาหารนอกจากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารแล้ว ยังช่วยให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร การพัฒนาพืชและสัตว์สำหรับเป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปอาหารชนิดใหม่ๆ ที่มีความทนทานต่อโรคหรือสภาวะอากาศที่ไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่า
 
 รองนายกรัฐมนตรี เดินชมนิทรรศการภายในงาน

      ทั้งนี้ นอกจากพิธีลงนามแล้ว ยังมีการสัมมนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ ในหัวข้อ “ทิศทางและเทรนด์ใหม่ในเทคโนโลยีอาหารของโลก” โดย ดร.เรนดี้ โวโรโบ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยการประชุมหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารระหว่างบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของไทย กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารจากมหาวิทยาลัย คอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา
 

ผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงภายในงาน


ติดต่อขอข้อมูลได้ที่ 
โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
โทรศัพท์ 02 160 5432  โทรสาร 02 160 5438
e-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  
         
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพข่าว : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ ,นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732   โทรสาร 02 333 3834
E-Mail : 
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน      Facebook : sciencethailand     

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป