กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สวทช. ผนึกกำลัง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ม.สงขลานครินทร์ และ จ.ตรัง ใช้ วท. ฟื้นฟู ปกป้อง และจัดการ ทรัพยากรชายฝั่งทะเล

สวทช. ผนึกกำลัง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ม.สงขลานครินทร์ และ จ.ตรัง ใช้ วท. ฟื้นฟู ปกป้อง และจัดการ ทรัพยากรชายฝั่งทะเล

พิมพ์ PDF


     กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และจังหวัดตรัง จัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนา “โครงการบูรณาการทางวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน บริเวณหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม” เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการวิจัยและการบริหารจัดการในพื้นที่หาดหยงหลำ เกาะมุก อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยมีเป้าหมายในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญคือ หญ้าทะเล และสัตว์ป่าสงวนพะยูน รวมทั้งสัตว์หน้าดินต่างๆ เพื่อให้โครงสร้างทรัพยากรธรรมชาติคงไว้ซึ่งความสมดุล เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลได้เหมาะสมเข้ากับบริบทของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม คาดว่าการลงนามครั้งนี้จะนำมาซึ่งแนวทางการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล พะยูน และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล ตลอดจนส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนทั้งปัจจุบันและในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

     ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ด้วยความสำคัญของระบบนิเวศในพื้นที่หาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ จังหวัดตรัง จึงได้มีการหารือร่วมกันในการพัฒนา ‘โครงการบูรณาการทางวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน บริเวณหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม’ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการวิจัยและการบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในลักษณะองค์รวม มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ (แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุด) และสัตว์ป่าสงวน (พะยูนฝูงใหญ่ที่สุด) รวมทั้งสัตว์หน้าดิน (ปลิงทะเล ม้าน้ำ หอยตะเภา หอยมือเสือ) เพื่อให้โครงสร้างของทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุลและมีการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้เหมาะสมกับความต้องการของอุทยานฯ อย่างยั่งยืนกับบริบทของชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) นอกจาก 4 หน่วยงานหลักที่ลงนามร่วมกันเพื่อทำงานในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังได้รับร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อร่วมกันนำเทคโนโลยีและวิธีการวิจัยใหม่ๆ มาใช้ในการวิจัยพื้นที่ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากชุมชน ซึ่งผลจากความร่วมมือครั้งนี้ คาดว่าจะได้แนวทางการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล พะยูน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล ตลอดจนส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน”
     “ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรชีวภาพมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางใหม่ๆ เพื่อการสำรวจติดตามทรัพยากรชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ เช่น พะยูน หรือหญ้าทะเล โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System) หรือแม้แต่การติดตามกระแสน้ำและการหมุนเวียนของตะกอนในทะเล รวมไปถึงการติดตามสภาวะแวดล้อมทางทะเล ที่จำเป็นต้องใช้แบบจำลองทางสมุทรศาสตร์ และการติดตามแบบ real time เข้ามาช่วย ทำให้การศึกษาสภาวะแวดล้อมทางทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริม
     นายเฉลิมชัย ปาปะทา รักษาการรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งมีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ครบถ้วน โดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก มีกำลังเจ้าหน้าที่จำกัด และต้องปฏิบัติงานในครอบคลุมทุกด้านและทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน ตามภารกิจหลักประกอบด้วย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนตลอดไป การศึกษาวิจัยและห้องทดลองทางธรรมชาติวิทยา รวมทั้งการจัดการการท่องเที่ยวในลักษณะการสื่อความหมายธรรมชาติและนันทนาการ ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญทุกด้าน ดังนั้นภารกิจในด้านการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จำเป็นต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้เฉพาะด้านจากสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้เข้ามาร่วมงานทางด้านวิชาการ และร่วมกันกำหนดเป้าหมายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในลักษณะองค์รวม ที่สำคัญคือ ความจำเป็นที่ต้องให้องค์ความรู้ทางวิชาการมาเป็นข้อมูลชี้นำในการวางแผนเพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบ”

 

 

     นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ในบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รับผิดชอบในการสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย และการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่ทางภาคใต้ ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ได้รับการจดทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย และของโลก เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย และใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน” 
     นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า “บริเวณชายฝั่งทะเลในพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีความสำคัญทั้งในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาคอาเซียน ระดับประเทศ จนถึงระดับชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล  ประเทศไทยได้รับการโหวตเป็นอันดับที่ 2 สำหรับ Top snorkeling in Pacific and Indian Ocean และได้รับการโหวตเป็นอันดับที่ 5 สำหรับ Top Value Dive Destination in Pacific and Indian Ocean รายได้ของประเทศไทยที่มาจากการท่องเที่ยวทางทะเลในฝั่งภาคใต้อันดามันที่ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และตรัง มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.25 แสนล้านบาทต่อปี  การท่องเที่ยวของจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันจึงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  จังหวัดตรังจึงเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานในพื้นที่  ส่งเสริมและบูรณาการ รวมทั้งนำความรู้จากการวิจัยไปส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัด”

 


ข่าวโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทรศัพท์ 0-2564-7000   โทรสาร 0-2564-7001-5
Call Center 0-2564-8000   E-mail:  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน


เผยแพร่ข่าวโดย : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732   โทรสาร 02 333 3834
E-Mail :  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน    Facebook : sciencethailand

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พัฒนาและส่งเสริมการรับรองสมรรถนะของบุคคลสู่มาตรฐานสากล
» กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมทัพ 35 หน่วยงานรัฐ-เอกชน เดินหน้า “ประชารัฐร่วมใจยกระดับ โอทอป ด้วย วทน.”
» สทน. ลงนามความร่วมมือกับวินอะตอม เวียดนาม ร่วมวิจัยและสร้างมาตรการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
» ผู้แทนจากฟิลิปปินส์เข้าเยี่ยม รมว.วท. เตรียมร่าง 'ข้อตกลงฯ ด้านวิทยาศาสตร์ฯไทย-ฟิลิปปินส์' อีกครั้ง
» 3 หน่วยงานร่วมมือผุดเมืองสุขภาพที่ปราจีนบุรี ดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม
» สวทช. ผนึกกำลัง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ม.สงขลานครินทร์ และ จ.ตรังใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฟื้นฟู ปกป้อง และจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง
» กระทรวงวิทย์ สวทช. และ ออโต้เดสก์ ร่วมขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตดิจิทัลในประเทศไทย
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป