กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ABIC 2009 เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและชีวิตที่ดีกว่า

ABIC 2009 เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและชีวิตที่ดีกว่า

พิมพ์ PDF

                      ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร (ABIC 2009) ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและชีวิตที่ดีกว่า ดีกว่า (Agricultural Biotechnology for Better Living and a Clean Environment) และบรรยายในหัวข้อ “Thai Agriculture : Opportunities Under the World Crisis”  ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2552 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ  ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) (เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552)
                      ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อประเทศไทยในหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน และด้านสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม  เป็นภาคที่มีการจ้างงานมากที่สุด และใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกือบทั้งหมดมากกว่า 80 %  เช่น กุ้ง มันสำปะหลัง มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ และยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมูลค่าสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับ 1 หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง เป็นต้น 

 


                      รัฐบาล (นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์) เล็งเห็นโอกาสภายใต้วิกฤตต่างๆ ที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพของภาคเกษตรอย่างยั่งยืน  คุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ดีขึ้น และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการไม่บุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูก  เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากเป็นอันดับหนึ่ง และภาคเกษตรต้องใช้พลังงานทั้งในการขนส่งและการแปรรูป  ดังนั้น รัฐบาลจึงมียุทธศาสตร์เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากพลังงานชีวภาพเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน  
                      จากข้อมูล IMD Ranking  แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลค่าการลงทุนการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีของประเทศไทยค่อนข้างต่ำ แต่รัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มจาก 0.24 % เป็น 1.0 % แม้จะไม่มากนักแต่เป็นการเริ่มต้นที่ดี  นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศไปแล้ว 3,400 ทุน โดย 1 ใน 3 เป็นสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และมีนักเรียนทุนจบกลับมาแล้ว 472 คน ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักวิจัยเป็น 10 คนต่อ 10,000 คน จากปัจจุบัน 6 คนต่อ 10,000 คน
                       ในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ การมีอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาครวม 4 แห่ง ซึ่งในส่วนกลางคือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นอกจากมีศูนย์แห่งชาติ 4 ศูนย์ ยังมีบริษัทที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ 60 บริษัท และอุทยานวิทยาศาสตร์ ระยะที่ 2 จะมีพื้นที่เพียงพอให้กับอีก 200 บริษัทเข้ามาทำวิจัย  เพื่อเป้าหมายที่จะไต่ลำดับความสามารถจากการใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคือ การทำวิจัยและพัฒนา  
                       กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีการจัดตั้ง คณะกรรมการรัฐร่วมเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) เพื่อเป็นกลไกที่จะนำความรู้และประสบการณ์จากงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ในภาคเอกชน  ประเทศไทยไม่ได้มองเฉพาะการพัฒนาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญเท่าเทียมกับเรื่องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมภูมิปัญญา และในวาระครบรอบ 30 ปีของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีนโยบายขยายโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ฯ ให้ครบ 30 แห่ง เพื่อเป็นหมู่บ้านนำร่องที่มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชน ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านลิ่มทอง หมู่บ้านบาลา-ฮาลา 

 


                      นอกจากนี้ยังมีการบรรยายจาก  Prof. Jeremy Roberts, University of Nottingham, UK ในหัวข้อ “Manipulating Cell Separation Processes for Crop Improvement”  และ Dr.William James Peacock, CSIRO Plant Industry, Australia บรรยายในหัวข้อ “Food, More Food, Good Food”  ภายในงานยังมีการประชุมวิชาการนานาชาติ Starch Update 2009: The 5th International Conference on Starch Technology ในระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2552  จัดโดยไบโอเทค สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการประชุมวิชาการนานาชาติ The 21st annual conference of the Thai Society for Biotechnology (TSB) ในระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2552  จัดโดยสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย  ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และไบโอเทค  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เช่นเดียวกัน

 


                      การแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าของผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ประกอบด้วย นิทรรศการพืชและผลิตผลจากพืช เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 การพัฒนาพันธุ์อ้อยน้ำตาล  อ้อยพลังงานและอ้อยอาหารสัตว์  แจกท่อนพันธุ์อ้อยอาหารสัตว์ฟรี  พร้อมชม ชิม และเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์พืชที่น่าสนใจ เช่น ข้าวโพดหวาน  พริกเผ็ด  แตงกวา  ต้านโรคราน้ำค้างและไวรัส  และฟักทองหวาน  นิทรรศการชุดตรวจด้านอาหารและการเกษตร เช่น ชุดตรวจไวรัสโรคกุ้งที่มีความแม่นยำสูงทราบผลภายใน 1 ชั่วโมง นิทรรศการพลาสติกฟิล์มเทคโนโลยี เช่น พลาสติกโรงเรือนที่มีคุณสมบัติกรองรังสียูวี  ลดความร้อนในโรงเรือน  และช่วยเพิ่มสีสรรของผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตมะเขือเทศ  ผักสลัดต่างชนิด ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผักผลไม้  ฟิล์มลดการเกิดฝ้า  และการออกร้านของบริษัทผู้ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ และจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ 

 

 

 


เขียนข่าวโดย : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร. 02354 4466 ต่อ 118
ถ่ายภาพโดย : นายไววิทย์  ยอดประสิทธิ์  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร. 02354 4466 ต่อ 118


 

 

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป