กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ โชว์งานบริการมาตรวิทยา วิเคราะห์ ทดสอบ และรับรองคุณภาพ เสริมขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทย

กระทรวงวิทย์ โชว์งานบริการมาตรวิทยา วิเคราะห์ ทดสอบ และรับรองคุณภาพ เสริมขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทย

พิมพ์ PDF

 

         วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ของหน่วยงานในสังกัด วท. ได้แก่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ (ปส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (สทน.) จึงมีแนวคิดในการจัดงานแถลงข่าวพร้อมทั้งเยี่ยมชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ภายใต้หัวข้อ พัฒนาเศรษฐกิจไทย NQI/MSTQ เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย ณ เทคโนธานี รังสิต คลองห้า จ.ปทุมธานี โดยภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัย และนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการทำงานภายใต้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศที่มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยยกประเด็นของคุณภาพอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งเยี่ยมชมหน่วยงาน เพื่อดูขั้นตอนการทำงานภายใต้กิจกรรม MSTQ ของอุตสาหกรรมด้านอาหาร 

 

 

โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพทำหน้าที่ร่วมกัน โดยเริ่มจากการกำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดทางเทคนิคขั้นต่ำ (S:Standardization) ทดสอบสินค้าและบริการเพื่อพิสูจน์ว่ามีคุณสมบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนด (T:Testing) ตรวจสอบสมรรถนะของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบเพื่อประกันความน่าเชื่อถือของผลการทดสอบ (Q:Quality Management) และให้ความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาแก่เครื่องมือวัดที่ใช้ในการผลิต การควบคุมคุณภาพ การวิเคราะห์ ทดสอบการตรวจสอบ การรับรองและการกำหนดมาตรฐาน (M:Metrology)

 

 

ในช่วงแรกจะเป็นการเยี่ยมชมสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ภายใต้กิจกรรม M (Metrology) วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารทะเลเพื่อการส่งออก ภายใต้แบรนด์ไทย TRM (Thailand Reference Material) เป็นการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร 2 แบบ ได้แก่ การตรวจสอบทางกายภาพ ประกอบด้วย น้ำหนัก และอุณภูมิ และการตรวจสอบทางเคมี คือการตรวจองค์ประกอบต่างๆ ของอาหาร ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไวตามิน แร่ธาตุ และน้ำ สมบัติทางเคมีบางอย่าง เช่น ความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น สารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก คลอแรมเฟนิคอล

 

 

ต่อด้วยการเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ภายใต้กิจกรรม T (Testing): ศูนย์ฉายรังสีในส่วนงานห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ และการฉายรังสีเพื่อการปลอดเชื้อในสินค้าเพื่อการส่งออก โดยศูนย์ฉายรังสี สทน. มีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาที่มีความพร้อมในการให้บริการ ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด และการตรวจวิเคราะห์ด้านจุลชีววิทยาอื่นๆ แก่ผู้ที่มาขอใช้บริการฉายรังสี และสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ จะใช้ระยะดำเนินการประมาณ 20 วันทำการ ทั้งนี้ ทางห้องปฏิบัติการจะดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดก่อนจึงจะฉายรังสีเพื่อให้กำหนดปริมาณรังสีที่ใช้ได้อย่างเหมาะสม และจะทำการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดหลังฉายรังสีอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสินค้าชนิดนั้นๆ


ในส่วนของศูนย์ฉายรังสีจะให้บริการฉายรังสีแกมมาที่มีต้นกำเนิดจาก โคบอลต์-60 ซึ่งนำเข้าจากประเทศแคนาดา โดยผลิตภัณฑ์ที่สามารถฉายรังสีนั้นมีหลากหลายชนิด เช่น ผลิตผลทางการเกษตร อาหารแปรรูป อาหารสัตว์ สมุนไพร เครื่องเทศ ผลไม้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น โดยอาหารที่ฉายรังสีแล้วยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม ซึ่งการฉายรังสีในปริมาณรังสีต่ำอาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงไปบ้างแต่น้อยมากจนอาจวัดไม่ได้หรือวัดได้ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ ส่วนการรังสีในปริมาณรังสีสูงเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียอาจจะทำให้คุณค่าทางโภชนการลดลงไปใกล้เคียงกับการปรุงอาหารหรือการแช่แข็ง และการรับประทานอาหารฉายรังสีจะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว โดยมีหน่วยงานของรัฐและนักวิทยาศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนหลายร้อยโครงการถึงผลของอาหารฉายรังสี จนได้ผลสรุปว่าอาหารฉายรังสีปลอดภัย รวมถึงคณะกรรมการอิสระทางวิทยาศาสตร์ของเดนมาร์ก สวีเดน อังกฤษ และแคนาดา ได้ยืนยันถึงความปลอดภัยในอาหารฉายรังสี นอกจากนั้นอาหารฉายรังสียังได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ USFDA อีกด้วย ทั้งนี้ ในอีก 3 ปีข้างหน้าทาง สทน. จะดำเนินการสร้างโรงฉายรังสีเอกซ์จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ เพื่อรองรับการให้บริการภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

 

 

และปิดท้ายด้วยห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้กิจกรรม M (Metrology), T (Testing), Q (Quality Management) กับงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย MSTQ เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย โดยเปิดให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการทดสอบระบบขนส่งทางรางรถไฟ (railway) และยานยนต์ขนส่ง (transportation vehicle) ของศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติวัสดุ วว. ที่ให้บริการทดสอบและประเมินด้านความแข็งแรง ความคงทน ความปลอดภัย การสั่นสะเทือน ของระบบรางซึ่งครอบคลุมทั้งรถไฟขนส่งสินค้า (รฟท.) รถไฟฟ้าในเมือง (รฟม.) รถบรรทุกเล็ก (รถกระบะ) และรถบรรทุกใหญ่ (รถสิบล้อ รถเทรลเลอร์) ชิ้นส่วนระบบรางที่ วว. สามารถให้บริการได้ เช่น หมอนคอนกรีต รางรถไฟ รอยเชื่อมราง เครื่องยึดเหนี่ยวราง ชุดประแจทางหลีก ชุดกันตกราง ชิ้นส่วนประกอบโบกี้ และชิ้นส่วนระบบห้ามล้อรถไฟ ทั้งนี้ ชิ้นส่วนรถบรรทุกที่ วว. สามารถให้บริการได้ อาทิ แชสซี ตัวถึง กระบะ หลังคา ล้ออะไหล่ แหนบสปริง ฯลฯ โดย วว. ให้บริการทดสอบวิเคราะห์ทั้งการทดสอบคุณสมบัติพื้นฐานการทดสอบเสมือนการใช้งานจริง จัดทำโครงการที่ปรึกษาทางวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาปรับปรุงคุณภาพวัสดุและผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการนำเข้าหรือผลิตชิ้นส่วนรางรถไฟและรถบรรทุก และยังให้บริการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่อุตสาหกรรมทั่วไปเพื่อส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดภูมิภาคและตลาดโลก

 

 

ข่าวโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

ภาพและวีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และ นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3728-3732  โทรสาร 02 333 3834

E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  Facebook : sciencethailand

 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป