กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน วท.ยก NQI/MSTQ พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย

วท.ยก NQI/MSTQ พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย

พิมพ์ PDF

  


           วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ภายในหน่วยงานสังกัด วท. ทั้งหมด 6 หน่วย ได้แก่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ (ปส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) จัดงานแถลงข่าวพร้อมนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ภายใต้หัวข้อ พัฒนาเศรษฐกิจไทย NQI/MSTQ เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายประยูร เชี่ยววัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ เทคโนธานี รังสิต คลองห้า จ.ปทุมธานี 

       การกีดกันทางการค้าของโลกปัจจุบันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกำแพงภาษีเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ได้กลายมาเป็นประเด็นทางด้านคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ  National Quality Infrastructure : NQI  จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของชาติ การดำเนินงานเรื่องโครงสร้างพื้นฐานฯในทางปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานระดับชาติหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กร ด้านการมาตรวิทยา (M:Metrology) ด้านการมาตรฐาน  (S:Standardization ) ด้านการทดสอบ (T:Testing )  และ ด้านการบริหารคุณภาพ (Q:Quality Management) หรือ MSTQ

 

 

          ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวถึงความสำคัญของ MSTQ ว่า เป็นเรี่องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ตราบใดที่ประเทศไทยยังขับเคลื่อนในกลุ่มอุตสาหกรรม MSTQ จะเป็นมีความสำคัญมาก ตั้งแต่การตรวจสอบสินค้าต่างๆ ที่ผลิตภายในประเทศเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือการนำเข้าจากต่างประเทศ จำเป็นต้องมีการความแน่ใจในกระบวนการวิเคราะห์และทดสอบให้แน่ใจว่าสินค้าบริการเหล่านั้นเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดก่อนถึงผู้บริโภค

 

 

          สำหรับ MSTQ มีความสัมพันธ์กันหลายกระทรวง โดยมีหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานระดับชาติถึง 10 กระทรวง และมีหน่วยงานที่ให้บริการวิเคราะห์และทดสอบทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งธุรกิจการวิเคราะห์ทดสอบนั้นมีมูลค่าเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ในปัจจุบันการวิเคราะห์และทดสอบมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เนื่องจากขาดความสามารถภายในประเทศ และทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ ในขณะที่มีการผลิตสินค้าใหม่ๆ ขึ้น ต้องใช้เงินจำนวนมากและเวลานานในการส่งสินค้าไปทดสอบที่ต่างประเทศ ดังนั้น ระยะเวลาในการนำสินค้าใหม่ๆ ของไทยออกสู่ตลาดจะมากขึ้น ถ้ามีการพัฒนาเศรษฐกิจดียิ่งขึ้นเท่าไหร่ โครงสร้างพื้นฐานก็ย่อมจะจำเป็นเข้มแข็งมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งในตลาด CLMV หรือกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ได้อีกด้วย โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และในขณะนี้กลุ่ม CLMV เริ่มมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ดังนั้น การวิเคราะห์และทดสอบจึงมีความจำเป็นมาก และประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศข้างเคียง สามารถใช้จุดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีเช่นกัน

 

 

          นายประยูร เชี่ยววัฒนา ผอ.สถาบันมาตรวิทยา เปิดเผยว่า เรื่องมาตรวิทยาของประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียนและมีศักยภาพใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ซึ่งหากเป็นด้านเคมีไทยจะมีความสามารถสูงกว่าอีกด้วย ปัจจุบันทางด้านเคมี มีความสำคัญมากทั้งความปลอดภัยทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และการตรวจสุขภาพ เช่น การตรวจคลอเรสเตอรอลคนจะไม่ค่อยเชื่อถือผลครั้งแรกและจะตรวจใหม่อีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานในการทดสอบและขีดความสามารถในห้องปฏิบัติการที่แตกต่างกันซึ่งต้องยกระดับในส่วนนี้

          ในอดีตไทยมีการส่งออกกุ้งแล้วมีการส่งกลับสินค้าจากยุโรป เนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด ถ้าเรามีองค์ความรู้ด้านการทดสอบและสอบเทียบก็จะสามารถเจรจาต่อรองหรือแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง   นายประยูร กล่าว

 

          ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. อธิบายถึงการให้บริการห้องปฏิบัติการของ วว. โดยจะทำการสอบเทียบสินค้าโดยใช้มาตรฐานที่เทียบกับมาตรฐานของ มว. ซึ่งเป็นมาตรฐานอ้างอิงที่แม่นยำที่สุดในประเทศ และจะนำมาตรฐานนั้นมาสอบเทียบสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้มาตรฐานที่ วว. ใช้สอบเทียบสินค้านั้นย่อมมีความถูกต้องและแม่นยำเช่นกัน

          จะเห็นว่าเมื่อเครื่องวัดในภาคการผลิตถูกต้อง สินค้าที่ผลิตออกมาก็จะมีความถูกต้อง และเกิดข้อบกพร้องน้อยที่สุด เกิดการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย    ผู้ว่าการ วว. กล่าว

 

 

 

         ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัย และนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการทำงานภายใต้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศที่มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยยกประเด็นของคุณภาพอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งเยี่ยมชมหน่วยงาน เพื่อดูขั้นตอนการทำงานภายใต้กิจกรรม MSTQ ของอุตสาหกรรมด้านอาหาร อาทิ การผลิตวัสดุอ้างอิงรับรอง สำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารทะเลเพื่อการส่งออก โดย มว., การเยี่ยมชมศูนย์ฉายรังสีในส่วนงานห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อและการฉายรังสีเพื่อการปลอดเชื้อในสินค้าเพื่อการส่งออก โดย สทน.,และ บริการด้านวิจัย และ ทดสอบ ด้วย MSTQ เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย โดย วว. 

  

 

 

 

ข่าวโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

ภาพและวีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3728-3732  โทรสาร 02 333 3834

E-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  Facebook : sciencethailand

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป