(25 กันยายน 2552) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวเครื่องจักรต้นแบบฝีมือคนไทย ภายใต้โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตด้วยวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นเครื่องหนัง อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงจัดตั้ง “โครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตด้วยวิศวกรรมย้อนรอย” ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2547 โดยร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตเครื่องจักร มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ จนกระทั่งสามารถสร้างเครื่องจักรได้ด้วยฝีมือคนไทย ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
“โครงการวิศวกรรมย้อนรอย เป็นความสำเร็จที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นกระบวนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีจากการวิเคราะห์สืบกลับไปยังต้นแบบเดิมที่ใช้งานอยู่ และเมื่อรู้คุณสมบัติของวัสดุ หลักการทำงาน กรรมวิธีการผลิตในเชิงเทคนิคแล้ว จึงพัฒนาสร้างเครื่องต้นแบบขึ้นใหม่ ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง มีคุณภาพใกล้เคียงกับเทคโนโลยีต้นแบบจากต่างประเทศ จำหน่ายราคาถูกกว่าเครื่องจักรนำเข้า” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ด้าน นายณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย - เยอรมัน ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงความร่วมมือ ในโครงการวิศวกรรมย้อนรอย ว่า สถาบันไทย – เยอรมัน เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม นับเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในโครงการวิศวกรรมย้อนรอยมาตั้งแต่ปี 2547
![]() |
![]() |
“โครงการวิศวกรรมย้อนรอย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งการสร้างศักยภาพให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการ ตลาดแรงงาน และระบบ สำหรับการพิจารณาเครื่องจักรต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนั้น เราจะมองความต้องการของตลาด ความสามารถในการแข่งขันและความสามารถและความพร้อมในการพัฒนาสร้าง” นายณรงค์กล่าว
สำหรับเครื่องจักรต้นแบบที่พัฒนาได้สำเร็จ ได้แก่
เครื่องตัด Pattern พร้อมซอฟต์แวร์ช่วยในการผลิต โดยนายสุริยา ทองเชตุ เป็นการสร้างเครื่องจักรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นเครื่องหนัง รองเท้า ซึ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะประสบปัญหาด้านต้นทุน เนื่องจากต้องพึ่งพาแรงงานเป็นสำคัญ ดังนั้น หากต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีทั้งซอฟต์แวร์และเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาช่วย
เครื่องอัดก้อนเศษโลหะ โดยนายณรงค์ ฉลาดธัญกิจ จากนโยบายประหยัดพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาทางประหยัดพลังงานและลดของเสีย โดยในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นรูปชิ้นส่วน ชิ้นงาน พบว่า หลังขึ้นรูปจะเกิดเศษโลหะขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการจัดเก็บ ดังนั้น หากมีการทำการอัดโลหะเป็นก้อน ก่อนนำไปทำลาย หรือรีไซเคิล จะช่วยประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาก ซึ่งไทยนำเข้าเครื่องจักรประเภทนี้จากจีน และไต้หวัน เป็นส่วนใหญ่
เครื่องตัดด้วยลวดอัตโนมัติ โดยนายบูรณางค์ ศุขสมิติ เป็นเครื่องมือกลไกที่ใช้ในการตัดวัสดุที่เป็นโลหะด้วยกระแสไฟฟ้า และควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือกลที่อุตสาหกรรมขึ้นรูปความเที่ยงตรงสูงจำเป็นต้องใช้ โดยในปีที่ผ่านมา แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะชะลอการลงทุน แต่ก็ยังนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าวกว่า 400 ล้านบาท
เครื่องจักรเป่าขวดพลาสติก พีอีที โดยนายนำชัย เพิ่มทรัพย์ เป็นพลาสติกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ว่าสามารถใช้กับอาหารและยาได้ ทั้งยังมีความสวยงาม แข็งแรง เหมาะกับการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ตลาดจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยมีการนำเข้าสูงถึง 700 ล้านบาท
ผู้เผยแพร่ข่าว : สุจิรัส สังข์ทอง พนักงานประชาสัมพันธ์
ผู้ถ่ายภาพ : สุนิสา ภาคเพียร นายช่างภาพ / สุจิรัส สังข์ทอง พนักงานประชาสัมพันธ์
ที่มา : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี