21 พฤษภาคม 2559 - อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (NSP : Northern Science Park) จัดงาน NSP Innovation Fair 2016 ขึ้นในระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กิจกรรม รวมถึงแสดงผลงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในการให้บริการและการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามาใช้บริการอุทยานฯ เพิ่มมากขึ้น โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้ง นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนคณะผู้บริหารเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ร่วมเปิดงาน
![]() |
|
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า NSP Innovation Fair 2016 เป็นงานที่แสดงผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในการเพิ่มมูลค่ากระบวนการและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) อันเป็นความร่วมมือของภาคการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแม่ข่ายการบริหารการดำเนินงาน ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ผนวกกับภาครัฐบาล คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนนี้ล้วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือและประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืนต่อไป
![]() |
“สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สู่ผู้บริโภคในภูมิภาค และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจว่า การให้บริการด้าน วทน. ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสามารถให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ และถ่ายทอดสู่ธุรกิจทุกภาคส่วนได้ รวมทั้งประชาชนที่สนใจทั่วไป มีการรับรู้และตระหนักถึงนวัตกรรมที่เป็นความสามารถของคนไทย อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าว
![]() |
|
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า งาน NSP Innovation Fair 2016 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการ รวมถึงประชาสัมพันธ์ผลงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รู้จักและเข้าใจ และเพื่อประสาน เชื่อมโยงนักวิจัยกับภาคเอกชน ภายใต้การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่าสูงสุด ภายใต้ แผนกลยุทธ์ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ได้แก่ โครงการพัฒนาบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์, โครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ และโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
|
![]() |
![]() |
|
|
![]() |
![]() |
![]() |
ภายในงาน NSP Innovation Fair 2016 ประกอบด้วยการออกบูธแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการที่ใช้บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ซึ่งเป็นผลงานจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวม 49 ราย, บูธบริการให้คำปรึกษาด้าน วทน., กิจกรรมการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และพิธีมอบรางวัล NSP Innovation Awards 2016 ทั้งนีี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ชนะการประกวด NSP Innovation Awards 2016 มีรายละเอียดดังนี้
1.รางวัล NSP Innovation Award 2016 ประเภท นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ - ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม
- รางวัลชนะเลิศ : บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : บริษัท สยามโนวาส จำกัด
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : บริษัท เฮอร์เบิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตชากาแฟเชอรี่ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง โดยคนไทยและเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ของ ฮิลล์คอฟฟ์ ที่สามารถคว้ารางวัล NSP Innovation Awards 2016
2.รางวัล NSP Innovation Award 2016 ประเภท นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ - กระบวนการนวัตกรรม
- รางวัลชนะเลิศ : ห้างหุ้นส่วนเพื่อนพลังงาน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : บริษัท เทพวงศ์ จำกัด
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : ไทยเฮิบส์แอนด์ไทย มัชชาจ
ห้างหุ้นส่วนเพื่อนพลังงาน จำหน่าย เครื่องบีบสกัดน้ำมัน, เครื่องจักรอุตสาหกรรม บริการให้คำปรึกษาและออกแบบเครื่องจักรต้นแบบ รวมทั้ง ให้บริการบีบน้ำมันสกัดเย็นจากเมล็ดพืชชนิดต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) และ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) ในการพัฒนางานด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการได้อย่าางรวดเร็วและยั่งยืน
3.รางวัล NSP Innovation Award 2016 ประเภท นักธุรกิจนวัตกรรม
- รางวัลชนะเลิศ : บริษัท เชียงรายโฮมเมดไอศกรีม จำกัด
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : The little Onion Factory company Limited
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : ห้างหุ้นส่วนบ้านการยะ จำกัด
บริษัท เชียงรายโฮมเมด ไอศกรีม จำกัด ผู้ประกอบการในโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ผลิตและจำหน่ายไอศกรีมประเภทการผลิตไอศกรีม ยี่ห้อ"ลิตเติ้ลแฮ้ปปี้เนส" และเป็นบริษัทที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมซอร์เบต์ที่ลดปริมาณน้ำตาลและไอศกรีมโพรไบโอติคที่มีผลไม้ผสมโยเกิร์ตไขมันต่ำ โดยลดปริมาณน้ำตาลสำหรับตลาดกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพ ซึ่งลดปริมาณน้ำตาลลงจากเดิม ประมาณ 45% และเพิ่มไฟเบอร์ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ และช่วยเหลือในการพัฒนาด้านการตลาดและแผนธุรกิจ โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจะเข้าร่วมแข่งขันระดับประเทศ งาน MOST Innovation Award 2016 ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 4 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ที่มาข้อมูล : นางสาวจิราวรรณ วงศ์ดอกไม้
โทรศัพท์. 053 – 942088 ต่อ 409 โทรสาร. 053 – 942088 ต่อ 413
E-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand