นางมยุรี ผ่องผุดพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนกว่า 20 คน เดินทางไปตรวจเยี่ยมการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างคุณภาพชีวิตของราษฎรในจังหวัดน่าน และลำปาง ตามโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ และคลินิกเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2552
นางมยุรี ผ่องผุดพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกันดำเนินการขยายผลหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ โดยมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.) เป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการและประสานงาน ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ท้องถิ่น พร้อมทั้งสนับสนุนภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่ให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงินและสร้างคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่มีเทคโนโลยี มีนักวิจัยและผลงานวิจัย จะนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนในโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์ฯ ดังกล่าว
หมู่บ้านผาคับ หมู่ที่ 2 ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกลความเจริญทำให้ราษฎรขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ ณ บ้านบ่อหลวง อ.บ่อเกลือ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหา จึงเกิดหน่วยงานในพื้นที่ คือ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนา และถ่ายทอดความรู้ มีเป้าหมายเพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงกำหนดให้จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหนึ่งที่มุ่งมั่นปฏิบัติงานเพื่อสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน และมุ่งนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยมี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นหน่วยงานหลักที่ประสานการดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรและสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ สนับสนุนการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าว พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปข้าวสาลี เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเห็นควรให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ
จากนั้น นางมยุรี ผ่องผุดพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมการผลิตหน่อไม้ปี๊บที่ปลอดภัยแบบครบวงจร ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านยู้กลาง อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานของคลินิกเทคโนโลยี สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สป.วท. โดยมีเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน (มทร.น่าน) เป็นผู้ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหน่อไม้ปี๊บที่ปลอดภัยแบบครบวงจร ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้แก่ บ้านยู้กลาง อ.ท่าวังผา บ้านป่าแดด อ.สันติสุข บ้านราษฎร์สามัคคี อ.ภูเพียง บ้านเรือง อ.เมือง และบ้านนาหวายใหม่ อ.บ้านหลวง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านยู้กลาง มีความพร้อมและศักยภาพทั้งด้านสถานที่ วัตถุดิบ และบุคลากรที่จะดำเนินงานพอที่จะขอ อย. ได้ และได้ทำการผลิตหน่อไม้ปี๊บมาอย่างต่อเนื่อง โดย มทร.น่าน ได้สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิต พร้อมเครื่องมือในการตรวจวัดและควบคุมคุณภาพ เช่น เครื่องวัดพีเอช เครื่องชั่ง เครื่องผสมอาหาร และช่วยจัดทำเอกสารประกอบการขอ อย. ปัจจุบันกลุ่มฯ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน อย. หมายเลข 55-103852-2-0001 และเป็นผู้ผลิตหน่อไม้ปี๊บที่ถูกต้องตามกฎหมายรายแรกและรายเดียวในจังหวัดน่าน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
และเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมการผลิตผักปลอดสารพิษ ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา โดยสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตร ลำปาง ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากหางไหล ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันพัฒนาได้ 3 สูตร คือ สูตร D1 กำจัดด้วยหมัดผัก สูตร D2 กำจัดเพลี้ยต่าง ๆ และสูตร D3 กำจัดหนอน นอกจากนี้ ยังได้ผลิตเชื้อรา Trichoerma virens ป้องกันกำจัดโรคพืช โดยไม่ทำลายเชื้อที่มีประโยชน์อื่น ๆ ในดิน ปัจจุบันสถาบันฯ ได้ผลิตเชื้อให้อยู่ในรูปชีวภัณฑ์อัดเม็ด ชื่อ “ซุปเปอร์ จี” สามารถใช้ได้สะดวกและเก็บรักษาในอุณหภูมิห้องได้นานถึง 8 เดือน นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้พัฒนาเชื้อราฆ่าแมลง Beauveria bassiana โดยการฉีดทิ้งไว้หรือโรยเชื้อลงไปในดิน เมื่อแมลงมาเกาะสปอร์จะติดตามผิวหนังของแมลง แล้วงอกเส้นใยแทงทะลุเข้าไปในลำตัวแมลง เป็นการควบคุมแมลงได้อีกวิธีหนึ่ง
ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยอีกว่า การเยี่ยมชมดูงานในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมของโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ และโครงการคลินิกเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สป.วท.
![]() |
![]() |
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ นางเทียรทอง ใจสำราญ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สป.วท. โทร. 02 354 4466 ต่อ 633