29 เมษายน 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จ.ปทุมธานี / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดบ้านอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต้อนรับนายชอย ยาง ฮี (Choi Yang Hee) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ไอซีที และการวางแผนอนาคตแห่งสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารอุทยานวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ระหว่างมูลนิธิอินโนโพลิส สาธารณรัฐเกาหลี โดยนาย ชา ดอง คิม ประธานมูลนิธิ กับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการ สวทน. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งฟู้ดอินโนโพลิส เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารของไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็น 9% ของจีดีพี มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ สร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ โดยกำหนดพื้นที่แรกกว่า 60,000 ตารางเมตรภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชนและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้ถูกพัฒนาขึ้นโดย สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บนพื้นที่ 200 ไร่ ให้เป็นนิคมวิจัยแห่งแรกของประเทศที่พร้อมรองรับการลงทุนกิจกรรมวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน โดยปัจจุบันมีเอกชนอยู่ในพื้นที่กว่า 70 ราย และมีบุคลากรของภาคเอกชนกว่า 600 คน เป็นนักวิจัยประมาณ 300 คน ในพื้นที่บริเวณเดียวกันนี้ยังเป็น headquarter ของ สวทช. และศูนย์วิจัยแห่งชาติ 4 แห่ง มีบุคลากรรวมประมาณ 3,000 กว่าคน เป็นบุคลากรวิจัยกว่า 1,200 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอกประมาณ 600 คน อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (FFIC) ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบกลาง สวทช. ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วันต่อสัปดาห์
สำหรับโครงการฟู้ดอินโนโพลิสนั้น มี สวทน. และ สวทช. เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนให้เป็นนิคมวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารของประเทศและเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารที่สำคัญในภูมิภาค พร้อมกับดึงดูดให้บริษัทอาหารชั้นนำของโลกทั้งบริษัทต่างประเทศและบริษัทไทยเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาและนวัตกรรม โดยจะดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม สนับสนุนและเชื่อมโยงเอกชนไทยในทุกระดับตั้งแต่กลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก และจัดสรรสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน อำนวยความสะดวกต่างๆ เชื่อมโยงมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ของรัฐบาล
“บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิฟู้ดอินโนโพลิส กับ สวทน.และสวทช. ฉบับนี้ จะครอบคลุมความร่วมมือในการบริหารอุทยานวิทยาศาสตร์และการพัฒนาฟู้ดอินโนโพลิส และเป็นการปูทางให้เกิดการดึงดูดบริษัท หน่วยวิจัยและผู้ให้บริการเทคโนโลยีนวัตกรรมจากเกาหลี เข้ามาดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาและให้บริการในฟู้ดอินโนโพลิสและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยอีกด้วย ประสบการณ์ของมูลนิธิฯ จะช่วยให้โครงการฟู้ดอินโนโพลิสมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อเปิดตัวเร็วๆ นี้” ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ภายหลังจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารอุทยานวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารเสร็จสิ้นลง ได้มีการเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร และศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ซึ่งภายในมีห้องปฏิบัติการวิจัย ระบบการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ที่พร้อมถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นตัวกลางจัดหาและปรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการในไทย โดยให้บริการทางวิชาการ เทคนิค และถ่ายทอดเทคโนโลยีและอาหารและอาหารสัตว์
ที่มาข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 02 160 5432 โทรสาร 02 160 5438
e-mail: foodinnopolis@sti.or.th
ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพและวีดีโอ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร และ นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน Facebook : sciecethailad