
วันที่ 26 เมษายน 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค (ศวภ 3.) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย สมาคมเมืองไทยไร้ของเสีย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดกระบี่ จัดสัมมนาแนะนำโครงการและระดมสมองเพื่อพัฒนาโจทย์ในโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า เพื่อหารือและระดมความคิดเห็นร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในการสนับสนุนและยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ภาคใต้ ณ โรงแรมเซ็นทารา อันดา เทวี อ่าวนาง จ.กระบี่
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า มีผลงานการพัฒนาในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือเพื่อการพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการจากผู้ใช้งาน ทั้งในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม กระบวนการพัฒนามูลค่าผลิตภัณฑ์จากยางพารา การพัฒนาผลงานเพื่อส่งเสริมให้ระบบสาธารณสุขสามารถสามารถเข้าถึงเครื่องมือที่มีราคาถูก และการพัฒนาเครื่องมือกระบวนการจัดการขยะจากกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันมีประสิทธิภาพดีขึ้น คือตัวอย่างของผลงานที่มีการพัฒนาแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบความต้องการจากผู้ใช้ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขด้านเวลาและโอกาส ทำให้การออกแบบด้านสมรรถนะและขนาดของผลงานต้องผ่านกระบวนการหารือและระดมความคิดจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้พัฒนาต้นแบบเครื่องจักร และผู้ใช้งานจริงในพื้นที่ เพื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาขอบเขตความต้องการและขีดความสามารถของผู้พัฒนาให้สอดคล้องกับแผนงาน การจัดสรรงบประมาณ และได้เครื่องจักรที่ตรงความต้องการรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันต่อไปในระยะยาว
จากการหารือร่วมกันครั้งนี้พบว่า ปัจจุบันการซื้อขายผลปาล์มน้ำมันยังขาดเครื่องมือในการวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพื่อกำหนดราคาซื้อขายที่เป็นยอมรับและยุติธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากราคานำเข้าเครื่องมือวัดที่มีมาตรฐานมีราคาสูง ซึ่งในเวทีสัมมนาฯ ให้ความสนใจกับ 3 เทคโนโลยี ได้แก่ 1) เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม 2) เครื่องแยกผลปาล์มจากทลายปาล์ม และ 3) เครื่องสกัด (หีบ) น้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ ได้มีการเสนอกรอบความร่วมมือในการพัฒนาระบบวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันในผลปาล์มระหว่างเกษตรกรและผู้รับซื้อ (โรงงานสกัด/ลานเท) และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรสกัดน้ำมันปาล์มที่มีอยู่ให้มีความเหมาะสมกับโรงงานขนาดเล็ก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมเครื่องจักรกลไทย และจังหวัดกระบี่ โดยมอบหมายให้ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค (ศวภ 3.) เป็นผู้ประสานงานและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดโมเดลการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี โทร. 02 333 3924
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand