25 เมษายน 2559 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานการกล่าวโอวาทแก่เยาวชนไทยที่เข้าพบก่อนเดินทางไปแข่งขัน ณ สหรัฐ จากโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก (ISEF 2016) โดยมี ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พร้อมด้วยคณะอาจารย์ เหล่าตัวแทนนักเรียน เข้าร่วมรับฟังในงานครั้งนี้ด้วย
|
|
![]() |
|
ดร.พิเชฐ ได้ให้โอวาทแก่เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกไปเข้าร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ โดยกล่าวว่า ประเทศชาติหวังให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตในโอกาสที่ได้เข้าแข่งขันในต่างประเทศ เด็กไทยต้องกล้าแสดงออกและควรเรียนวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับทักษะชีวิตทางสังคมพร้อมกันด้วย โดยต้องรู้ว่าสังคมเดินหน้าไปในทิศทางใด ต่อไปสังคมในอนาคตจะไม่ใช่สังคมมนุษย์เงินเดือน เพราะการใช้อินเตอร์เน็ต การใช้วิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่แนวคิดที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์อัจฉริยะเหล่านี้ให้คุยกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านคน ไม่ต้องสั่งการ โดยมีเป้าหมายคือช่วยกันทำงานเพื่อให้คนสะดวกสบายขึ้น กระบวนการเรียนรู้วันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เยาวชนที่มีความสามารถในวันนี้คือหัวรถจักร รถไฟทั้งขบวนจะมีความสามารถไม่เท่ากัน ประเทศก็ต้องการหัวขบวนเพื่อลากจูงให้เดินหน้าต่อไปอย่างมีพลัง ปัจจุบันต้องมองว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปไม่ได้ถ้าขาดกำลังคนโดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเนื่องจากต้องการคนเก่ง ซึ่งการนำความคิดไปขายหรือต่อยอดจะมีมูลค่าสูงกว่าการผลิตสูงมาก โลกวันนี้เดินเร็วไปมากต้องล้มเลิกความคิดเดิมๆ การเรียนรู้แบบเดิมๆ แต่ต้องทำงานเชิงวิเคราะห์และต้องเขียนให้เยอะเพื่อให้เกิดประโยชน์ ผมอยากให้พวกเราทุกคนมีความคิดแบบมีตรรกะที่ดี ความช่างสังเกต เนื้อหาน้ำหนัก ความละเอียดอ่อน มีเหตุผลสามารถแสดงออกได้อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เยาวชนไทยยังขาดอยู่ ชีวิตการเรียนเราผ่านแค่ช่วงสั้นแต่ชีวิตการทำงานเป็นช่วงที่ยาวไปตลอดชีวิต เราสามารถดำเนินชีวิตในกรอบได้แต่เราควรท้าทายตนเองด้วยการคิดนอกกรอบ เยาวชนระดับมัธยมสามารถเริ่มพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้แล้ว ผมอยากเห็นการเจริญงอกงามทางปัญญาที่กระจายตัวในวงกว้าง ฝากอาจารย์ช่วยขยายผลความสามารถของเด็กไทยให้เพิ่มทวีคูณเป็น 10 เท่า 100 เท่า มิเช่นนั้นประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หัวรถจักรจะเล็กไม่ได้ เพราะกลางรถจักรและปลายรถจักรนั้นใหญ่มาก ตลอดจนขยายผลถึงความประทับใจที่ได้สัมผัสมาขยายผลต่อเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สร้างกองทัพในการพัฒนาประเทศ ประเทศเราต้องการมากกว่าความเก่งของเด็ก เราต้องการให้เด็กเข้าใจว่าจะมาช่วยประเทศไทยเดินหน้าได้อย่างไร
![]() |
![]() |
วันนี้ถือเป็นวันที่น่ายินดีที่ได้อยู่กับเยาวชนระดับมัธยมปลายเข้าร่วมการแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก International Science and Engineering Fair หรือ ISEF ณ สหรัฐอเมริกาที่จัดทำทุกปี และนักเรียนที่จะไปแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างโครงการ I-SWEEP เยาวชนเหล่านี้เรียกว่าเป็นกลุ่มของหัวรถจักรของประเทศซึ่งมีโอกาสที่ดีที่จะไปเรียนรู้ แข่งขัน เปิดโลกทัศน์ของประเทศ เพื่อวัดระดับความรู้ของเด็กไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาคีเครื่องข่ายอยู่ทกๆ ปี “สิ่งที่ผมได้ขอให้เด็กเหล่านี้ตระหนักไว้เสมอคือ ให้คิด พูด เขียน อ่าน เรียนรู้ให้เยอะ เพื่อนำผลที่ได้นั้นไปขยายผลต่อประสบการณ์เหล่านี้ ดร.พิเชฐกล่าว”
![]() |
|
|
|
การแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก International Science and Engineering Fair หรือ ISEF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1950 โดยบริษัท Intel ได้เริ่มเป็น ผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ ปี 2547 โดยใช้ชื่อ Intel ISEF ในปี 2016 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 พฤษภาคม 2559 ณ เมือง Phoenix, Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ จำนวนกว่า 2000 คน จาก ประเทศทั่วโลกประมาณ 80 ประเทศ มีเงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เริ่มส่งโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมการประกวดตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยคัดเลือกโครงงานที่ได้รางวัลที่หนึ่งในกิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ที่สมาคมวิทยาศาสตร์ฯจัดขึ้นทุกปี มีโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลต่างๆหลายโครงงาน ต่อมาศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค NECTEC) ได้คัดโครงงานจากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) เข้าประกวดที่ Intel ISEFด้วย ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ NECTEC และ Intel ได้ร่วมมือกันอย่างดีในการเข้าร่วมการประกวดที่ Intel ISEF เพื่อความสำเร็จของเยาวชนไทย นอกจากนี้สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และเนคเทคยังได้รับเชิญให้ส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดในการประกวด International Sustainable World Project Olympiad (SWEEEP) ซึ่งจัดขึ้นทุกปีที่เมือง Houston, Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา
|
|
|
|
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเริ่มเข้ามาร่วมมือในการประกวด โครงงานวิทยาศาสตร์โดยเป็นศูนย์ภาคกลางเป็นเวลาหลายปี และได้ เข้ามาร่วมมือย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ระดับภูมิภาคจนถึงการเข้า ประกวด ระดับนานาชาติ รวมทั้ง ISEF และ I-SWEEEP ตั้งแต่ปี 2557 โครงงานที่ประเทศไทยได้จัดส่งไปร่วมประกวดในระดับนานาชาติ มีผลงานได้รับรางวัลในการประกวดมาอย่างสม่ำเสมอ ในปีล่าสุดคือ เดือนพฤษภาคม 2558 ที่หนึ่งในสาขา Animal Science และรางวัลใน สาขาต่างๆ อีก 4 โครงงานที่งาน ISEF และ 1โครงงานจาก I-SWEEEP และในปีนี้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ องค์การ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าประกวด ที่ ISEF จำนวน 6 โครงงาน นักเรียน 17 คน และเนคเทค 5 โครงงาน นักเรียน 10 คน และส่งทีมจากสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และเนคเทคประกวด ที่ I-SWEEEP 2 โครงงาน
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
facebook : sciencethailand
Call Center : 1313