18 เมษายน 2559 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ / มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย จัดงาน “บริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน” ถ่ายทอดความสำเร็จในการนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำพาชุมชนผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งได้ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยมีกิจกรรมใหญ่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำโดยเกษตรกรอย่างยั่งยืน” ระหว่าง สสนก. กับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อนำตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ่ายทอดสู่เครือข่ายเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนได้ด้วยตนเอง เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการมอบนโยบายสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเพื่อเกษตรกรอย่างยั่งยืน ส่วนกิจกรรมเรื่องที่ 2 คือ การเสวนาเรียนรู้สู่การลงมือทำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ




ดร.พิเชฐ กล่าวว่า วันนี้เรามีเครือข่ายที่เป็นต้นแบบให้กับสังคม 60 ต้นแบบ และกระจายอยู่ตามหมู่บ้านอีกกว่า 600 หมู่บ้าน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้นับเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่าปัจจุบันสังคมไทยพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่เรียกว่าความรู้ และจากอดีตที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าเราไม่ควรหยุดอยู่แค่การบริหารจัดการน้ำ แต่หลังจากการบริหารจัดการน้ำแล้วควรมีกิจกรรมที่จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้โดยการนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จากตัวอย่างบ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านเริ่มประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การปลูกพืชอินทรีย์ การขุดบ่อปลาซึ่งทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้น สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction – UNISDR) ได้เข้ามาดูงานและเกิดความสนใจอยากใช้ต้นแบบการพัฒนาและขยายผล เป็นเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อนำไปเผยแพร่ในเวทีสากล




ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สสนก. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจาก 2 ชุมชน เพิ่มขึ้นเป็น 60 ชุมชนแกนนำที่สามารถบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเองเพื่อเตรียมพร้อมรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้นรวมทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาและขยายผล เป็นเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจาก 60 ชุมชนแกนนำ ได้ขยายความสำเร็จและขยายแนวคิดไปสู่ชุมชนใกล้เคียง 543 หมู่บ้านให้เกิดการ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริด้วยตนเอง ดังตัวอย่างการบริหารจัดการทรัพยากร น้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ร่วมสนับสนุนผ่านโครงการรักน้ำ 2 แห่ง คือ
- บ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มต้นจาก 1 ชุมชน พื้นที่ 3,700 ไร่ ใช้แนวพระราชดำริแก้มลิง มีน้ำสำรองทำเกษตรได้ตลอดปี ได้ขยายการดำเนินงานไปสู่ 5 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 73,000 ไร่
- คลองรังสิต อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เริ่มต้นฟื้นคลองหลักและคลองสาขา และประตูน้ำ รวมทั้งปรับร่องสวนเป็นแก้มลิง เริ่มจากคลอง 8 ถึง คลอง 10 ขยายการดำเนินงาน คลอง 6 ถึง คลอง 14


ผลการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชุมชนได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนหมดฤดูฝน และได้เตรียมสำรองน้ำในพื้นที่ รวมทั้งคำนวณสมดุลน้ำ และปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และจากข้อมูลของแหล่งน้ำชุมชนรายสัปดาห์ ที่ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศอย่างต่อเนื่อง พิสูจน์ได้ว่า ร้อยละ 94 ของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำแล้งและน้ำหลาก มีน้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภค และทำการเกษตรภายในครัวเรือน สามารถรอดพ้นวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558 – 2559 และพร้อมเป็นตัวอย่างในการถ่ายทอดความสำเร็จ ขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และการสนับสนุนระดับนโยบาย จาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต และด้านเศรษฐกิจชุมชน
ที่มาข้อมูล : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.)
ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร , นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
facebook : sciencethailand
Call Center : 1313