
7 เมษายน 2559 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ร่วมมือลงนามในโครงการ “Thailand Spring up ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก” เพื่อพัฒนาระบบการมาตรฐานของประเทศ ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานสากล และเพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปด้วยความมั่นคงและยั่งยืน
.jpg)

ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งส่งเสริมศักยภาพและการพัฒนาอุตสาหกรรมและ SMEs ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยใช้กลยุทธ์ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายหลักให้กระทรวง หน่วยงาน ดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อการติดต่อประสานงานที่รวดเร็วเพื่อตอบสนองประชาชนให้ได้รับความสะดวกและประโยชน์สูงสุด โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งนักวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข็มแข็งและแข่งขันได้ในเวทีโลก


เรื่องของมาตรฐานเป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ และทั่วโลกมีการกำหนดวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์และกำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพของสินค้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนให้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงฯ เห็นความสำคัญของการกำหนดมาตรฐานจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำมาตรฐาน เพื่อยกระดับของมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อกำหนดมาตรฐานที่เป็นสากลและยอมรับในสากล จากที่ผ่านมาประเทศไทย ด้านการพัฒนาโครงสร้างด้านการทรัพยากรพบว่า ประเทศไทย จะเป็นเพียงฐานการผลิตอุตสาหกรรมในส่วนของแหล่งสนับสนุนด้านแรงงานในราคาที่ยอมรับได้เท่านั้น ในส่วนของกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ และยานยนต์ เพื่อการจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก มูลค่าที่สูงสุดของผลิตภัณฑ์จะมาจากสองส่วนหลักคือ จากการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) และการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมามีความสอดคล้องกับมาตรฐานที่บังคับใช้ (Product Compliance) ซึ่งประกาศและบังคับใช้โดยหน่วยงานรับผิดชอบด้านมาตรฐานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐาน FCC (Federal Communications Commission) มาตรฐาน CE (European Conformity) เป็นต้น แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมามีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่างๆ นั้น ต้องใช้บุคคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ของพนักงานของโรงงาน ในขั้นสูงด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาสร้างฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้ผลิตสินค้ามีการตรวจสอบ เชื่อถือได้ และมีคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้อุตสาหกรรมของประเทศจะมีมาตรฐานที่ดีเป็นที่ยอมรับและเกิดมูลค่าสร้างผลกำไรให้ประเทศได้มากขึ้น

.jpg)
สุดท้ายผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองฝ่ายที่ตกลงร่วมมือกันผลักดัน เรื่อง Thailand Spring Up ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและมาตรฐานอุตสาหกรรม ก้าวไกลสู่ตลาดโลก ในกรอบความร่วมมือ อาทิ 1.การกำหนดมาตรฐาน 2. การรับรองมาตรฐาน 3. การมาตรฐานระหว่างประเทศ 4. การส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน ซึ่งหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือกันแล้ว จะเร่งดำเนินโครงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเป็นคณะกรรมการในการกำหนดมาตรฐานและการพัฒนาบุคคลากรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกันของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นไปตามแนวทางสากล ตลอดจนเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมและให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ดร.พิเชฐ กล่าว


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอยมาตั้งแต่ปี 2554 ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ฯ ซึ่งเคยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการส่งออก เป็นมูลค่ามหาศาลต่อปี ประสบกับปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะต้องพึ่งพาการส่งออกและต้องนำเข้าวัสดุหรือชิ้นส่วน เข้ามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จ (Final Product) ในประเทศ หลายโรงงานในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทยอยปิดตัวลง หรือนโยบายและมาตรการในการลดกำลังพนักงานและลดเวลาทำงาน ก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการว่างงานภายในประเทศ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ ในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ได้นำกลยุทธ์การวางแผนจัดการ เพื่อลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มรายได้ การขยายโอกาสในทางธุรกิจ มาใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้


แต่ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ยังไม่สามารถก้าวพ้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการค้าในเวทีโลกด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆ ซึ่งได้บังคับใช้สากล มาสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์ หรือทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทย เพิ่งเข้าใจเรื่อง “มาตรฐานผลิตภัณฑ์สากล (Internal Product Standards)” ที่ผ่านมาการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ส่งออกไปจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ได้รับการร้องขอจากผู้นำเข้าในประเทศนั้นๆ เรียกร้องให้ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่ประเทศนั้นๆ กำหนดขึ้นก่อนการวางจำหน่าย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ในส่วนนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. จึงได้ร่วมกำหนดมาตรฐานของสินค้าประเภทนี้


สำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก (SME) ประเภทต่างๆ นั้น การลงทุนเพิ่มเติมในการจัดการในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ภาครัฐควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเป็นฐานการผลิตด้านผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยแหล่งใหญ่ในภูมิภาค แต่เมื่อมองจากด้านการพัฒนาโครงสร้างของประเทศ ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านมาตรฐาน จากฐานความรู้ที่สะสมไว้ของภาครัฐและการศึกษาไปสู่ภาคการผลิตแล้ว พบว่าประเทศไทย ยังคงขาดในส่วนของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมีความน่าเชื่อถือ และมีความปลอดภัยในการใช้งานจะต้องนำผลิตภัณฑ์ไปทำการทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ ที่แต่ละภูมิภาคของโลกกำหนดขึ้น การทดสอบนี้จะต้องทำขึ้นโดยห้องปฏิบัติการทดสอบ (Testing Laboratory) ที่มีระบบคุณภาพ (Quality System) เป็นที่ยอมรับ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่าย เวลาการขนส่งและการทดสอบสูง นำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจด้วย หากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาไม่สามารถผ่านการทดสอบได้ตามมาตรฐานสากล


สวทช. เห็นความสำคัญจึงได้ส่งเสริม สนับสนุน และมีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ของไทย ให้สามารถฝ่ากระแสเศรษฐกิจและขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตของอาเซียน ด้วยการร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตถัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การกำหนดมาตรฐาน 2. การรับรองมาตรฐาน 3. การมาตรฐานระหว่างประเทศ และ 4. การส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน เพื่ออุตสาหกรรมก้าวไกลด้วยมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


ข้อมูลเพิ่มเติม :
FCC ย่อมาจาก Federal Communications Commission (คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร) องค์กรนี้เป็นตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ที่วางระเบียบให้แก่อุปกรณ์ประเภทวิทยุ โทรทัศน์ ผู้ให้บริการการสื่อสารระหว่างรัฐ และงานให้บริการระหว่างประเทศที่อยู่ในสหรัฐฯ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ที่ผลิตสัญญาณความถี่วิทยุ ซึ่งจะไปรบกวนการส่งกระจายทางธุรกิจ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต้องได้รับการรับรองจาก FCC ก่อนที่จะนำไปขายในสหรัฐฯ เพื่อให้ตรงกับข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการเป็นตัวนำและการกระจายคลื่นวิทยุ FCC จะแบ่งเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น 2 ประเภท คือ Class A (ใช้ในงานอุตสาหกรรมหรือด้านธุรกิจ) และ Class B (ใช้งานในบ้าน)
CE มาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ “European Conformity” เดิมทีใช้เครื่องหมาย EC แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องหมาย CE อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2536 เครื่องหมาย CE ที่ปรากฏอยู่บนสินค้า เป็นเครื่องหมายที่แสดงการรับรองจากผู้ผลิต (Manufacturer’s Declaration) ว่าสินค้านั้น มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรป การมีเครื่องหมาย CE กำกับบนสินค้าจะทำให้สินค้านั้นสามารถวางจำหน่าย และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีในเขตเศรษฐกิจยุโรป หรือ European Economic Area (EEA) ยกเว้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมาชิกแต่ละประเทศจะดำเนินการออกกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป หรือ EC Directives ที่ เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องหมาย CE
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : sciencethailand
Twitter : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 1313