กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ จับมือ กระทรวงอุตฯ เดินหน้านำไทยสู่ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งต้นด้วยมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเต้ารับเต้าเสียบและสถานีประจุไฟฟ้า

กระทรวงวิทย์ฯ จับมือ กระทรวงอุตฯ เดินหน้านำไทยสู่ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งต้นด้วยมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเต้ารับเต้าเสียบและสถานีประจุไฟฟ้า

พิมพ์ PDF

 

     5 เมษายน 2559 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (สมอ.) จัดแถลงข่าว “การจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และผลการดำเนินงานการจัดทำมาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย กฟน. และ สวทช.” เพื่อนำเสนอข้อมูลและแผนงานการผลักดันมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในไทย ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อรองรับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

   

 

      ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของยานยนต์ในอนาคต คลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหุ่นยนต์อุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีโครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการผลักดันให้มีการจัดทำแผนมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นความพร้อมทั้งในส่วนนโยบายและผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เน้นด้านวิชาการและเทคนิคเป็นหลัก ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา การวิเคราะห์ทดสอบ การจัดทำมาตรฐานเต้ารับ เต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่

      นอกเหนือจากการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยท่อไอเสียของยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้ระบบหยดน้ำที่เป็นไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจน จึงไม่ก่อให้เกิดควันจากท่อไอเสีย รวมทั้งการพัฒนาสถานีชาร์จไฟ ระบบชาร์จไฟมาตรฐานสากลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ไออีซี 62196 การทดสอบโครงสร้างน้ำหนักเบา การทดสอบพื้นผิวถนนโดยเริ่มจากรถบัสหรือรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีการมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพิจารณาดำเนินการผลิตผลงานวิจัยรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาแบตเตอรี่

     “สุดท้ายนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังกับทุกฝ่าย วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะมีมาตรฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานีประจุไฟฟ้าก่อนคือเต้ารับเต้าเสียบ การร่วมกันจัดทำมาตรฐานอื่นๆ ที่จำเป็นทั้งในส่วนสถานีประจุไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนในเชิงวิชาการ เชิงเทคนิค และความปลอดภัย” ดร.พิเชฐ กล่าวสรุป

 

    ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมมีภารกิจหลักเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือก หากประเทศไทยไม่เร่งส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังอาจจะเสียเปรียบและก้าวไม่ทันประเทศคู่แข่ง โดยปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีการลงทุนในสายการผลิต เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับยานยนต์จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังต้องการการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในบางส่วน แม้วันนี้จะยังไม่ได้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย แต่คาดว่าหากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังน่าจะมีการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้นภายใน 3-5 ปีข้างหน้า


   
   

      ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญคือ ความพร้อมของสถานีประจุไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณจำกัดอยู่มากจึงควรเร่งกำหนดมาตรฐานสถานีประจุไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้รับความสะดวกในการประจุไฟในที่สาธารณะ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสถานีประจุไฟฟ้าต้องลงทุนสร้างอุปกรณ์ประจุไฟหลากหลายรูปแบบ เช่น ลักษณะและคุณสมบัติของเต้าเสียบ ประเภทของกระแสไฟ เพื่อให้ครอบคลุมรองรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมถึงสเปคเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความแตกต่างกัน สำหรับ สวทช. และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานของประเทศ ได้ร่วมกันหารือการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการได้แก่ สมอ. สวทช. การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจะมีการประกาศมาตรฐานดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สวทช. โทร. 0 2564 7000 ต่อ 71731

ลัญจนา (089 128 5004) วีระวุฒิ (081 614 4465) Email: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834

e-mail :    อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน    

Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป