ในช่วงบ่าย (1 เมษายน 2559) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / นายอภิรชัย วงษ์ศรีวรพล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนึ่งในกลไกส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในระดับภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ทำหน้าที่ผลักดันและเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ในภูมิภาคพร้อมทั้งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในพื้นที่และช่วยในการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการ เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชนในภูมิภาคผ่านกลไกในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนา เช่น ห้องปฏิบัติการเครื่องมือวิจัย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในอุทยานวิทยาศาสตร์ ให้ดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนาการออกแบบและวิศวกรรม ตลอดจนกระบวนการพัฒนานวัตกรรม ตั้งแต่การทดสอบแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อใช้ในการทดสอบตลาดการทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงการเตรียมความพร้อมผลิตเพื่อการค้าผ่านบริการต่างๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบ One Stop Service และยังมีบริการอื่น เช่น บริการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเจาะตลาดใหม่ เป็นต้น
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยกลไกการบ่มเพาะที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจากเส้นไหมแท้ 100% ผลิตจากเส้นไหมธรรมชาติที่ช่วยในการรักษาแผลในช่องปาก และมีความลื่นในขณะทำความสะอาดฟัน โดยได้รับการสนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิต และเครื่องจักร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และตราสินค้า รวมทั้งการจดเครื่องหมายการค้า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทอดกรอบมันไฟว์ชนิดหวานทอดกรอบ โดยผ่านกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานที่ได้รับการสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องขยายไลน์การผลิตสินค้า และก่อสร้างโรงงาน รวมทั้งออกแบบเครื่องหมายการค้าและบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่แทนบรรจุภัณฑ์แบบเดิม และ ผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูป ที่พัฒนาเป็นปลาร้าก้อนและปลาร้าผง เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดทำให้ไม่มีกลิ่นพกพาง่าย และมีรสชาติหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการอบรมการผลิตอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้า จากเครื่องหมายการค้าเพชรดำ รวมทั้งการจัดทำแผนธุรกิจ เป็นต้น
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
สำหรับห้องปฏิบัติการด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ คณะเกษตรศาสตร์ หาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือวิทยาศาสตร์จากอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานและสามารถรองรับการใช้บริการจากภาคเอกชน โดยห้องปฏิบัติการนี้มีทั้งศักยภาพเครื่องมือ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน สามารถพัฒนานวัตกรรมในห่วงโซ่อุปทานไก่ เช่น การให้บริการตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมที่สำคัญ และการวิจัยพัฒนาการปรับปรุงพันธุปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคนม และโคเนื้อ เป็นต้น
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ และ นายรัฐพล หงสไกร
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313