ในช่วงเช้า (1 เมษายน 2559) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / นายอภิรชัย วงษ์ศรีวรพล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการให้การต้อนรับ พร้อมทั้งนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมฟาร์มทดลองศูนย์เครือข่ายวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) และ ห้องปฏิบัติการกลางด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ คณะเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การต้อนรับพร้อมทั้งอธิบายถึงการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาการผลิตไก่พื้นเมือง
รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์การผลิตไก่พื้นเมืองเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการคัดเลือกยีนที่มีคุณลักษณะเด่นต่างๆ อาทิ การเจริญเติบโตเร็ว ผลผลิตไข่สูง และมีความสามารถในการทนทานของอากาศร้อน ไปจนถึงการทดสอบการเลี้ยงในรูปแบบของการผลิตจริง การเปรียบเทียบอาหารที่มีโภชนะแตกต่างกันอันจะส่งผลกระตุ้นต่อความเครียด และระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งทดสอบการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมแบบต่างๆ กับฟาร์มตัวอย่าง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ปลายน้ำสุดท้ายเป็นการตรวจสอบย้อนกลับการปลอมปนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อให้ได้ไก่สายพันธุ์พื้นเมืองแท้ โดยใช้ห้องปฏิบัติการกลางด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ คณะเกษตรศาสตร์ ด้วยเทคนิคทางอนุพันธุศาสตร์โมเลกุลในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันพัฒนาเทคนิคดังกล่าว ระหว่าง รศ.ดร.มนชัย ดวงจินดา ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สอว.) ที่ให้การสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
รศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาไก่สายพันธุ์พื้นเมืองนั้น นับเป็นผลผลิตในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้นำไก่ไทยเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม หรือไก่พันธุ์ชี มาต่อยอดแนวคิดลดการนำเข้าสายพันธุ์ไก่จากต่างประเทศ จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาลูกผสมที่เกิดจากไก่พื้นเมืองไทยร่วมกับไก่ที่ถูกพัฒนาทางด้านการค้าแต่เดิมเพื่อเพิ่มผลผลิตได้เร็วขึ้น โครงการนี้ได้ร่วมมือกับ บริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย พัฒนาสายพันธุ์ไก่ได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ แก่นทอง, สร้อยนิล ,สร้อยเพชร ,ไข่มุกอีสาน ซึ่งมีลักษณะและจุดเด่นที่แตกต่างกัน เหมาะสำหรับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของ “แก่นทอง” จะมีสีน้ำตาลชัดเจน ความโดดเด่น คือ เป็นไก่ที่ให้ไข่ดกมาก ซึ่งเหมาะที่จะทำเป็นไก่ที่เลี้ยงเพื่อผลิตไข่ “สร้อยเพชร” เป็นไก่ที่มีขนสีดำแต่มีสร้อยคอ แผงคอเป็นสีขาว ซึ่งจะมีลักษณะสวยงาม และจะมีความโดดเด่นที่เป็นลักษณะสองด้าน คือ เรื่องการเจริญเติบโต และเรื่องของการให้ไข่ดก เพราะฉะนั้นจะเหมาะกับกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะมีไก่ที่ใช้ได้ทั้งเลี้ยงเพื่อเป็นเนื้อและเลี้ยงเพื่อผลิตไข่ ส่วนกลุ่มของ “สร้อยนิล” จะเป็นกลุ่มที่มีขนสีขาว มีสร้อยคอสีดำ กลุ่มสร้อยนิลมีความโดดเด่นสองด้านเช่นกัน คือ สามารถเลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโตก็ได้ และก็เลี้ยงให้ไข่ก็ได้ ส่วนสายพันธุ์สุดท้ายคือ “ไข่มุกอีสาน” ลักษณะเด่นจะมีสีขาวปลอดตลอดทั้งตัว มีแข้งสีเหลือง ลักษณะสีสันจะคล้ายกับไก่ซี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองแท้ แต่เนื่องจากเป็นไก่พันธุ์สังเคราะห์สายใหม่ที่สร้างขึ้น ไก่ไข่มุกอีสานจะมีการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และเป็นตัวที่กำลังจะผลิตเป็นไก่เนื้อไทยบอยเลอร์ในอนาคต ซึ่งก็จะมีศักยภาพมากในการส่งออก และก็เป็นตลาดในกลุ่มอาเซียนและก็ตลาดในกลุ่มประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะสนใจไก่ลูกผสมไก่บ้านไทย เป็นต้น
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ไก่พื้นเมืองทั้ง 4 สายพันธุ์หลักจะมีจุดเด่นกว่าไก่ต่างประเทศ คือ ไม่ต้องเลี้ยงในโรงเรือนปรับอากาศเนื่องจากได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ช่วยตรวจสอบพันธุกรรมในการทนร้อน หากินเองได้ จึงไม่ต้องพึ่งพาอาหารที่เลี้ยงเพียงอย่างเดียว สามารถเลี้ยงในระบบเกษตรกรได้ เหมาะกับคุณค่าทางเศรษฐกิจในด้าน "ตัวดี ใข่ดก อกกว้าง" เหมาะกับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ เนื่องจากใช้ไก่จากสายพันธุ์ไทยเองและมีระบบการทำพันธสัญญาที่เป็นธรรมกับเกษตรกร โดยการทำงานร่วมกันใน 3 ส่วนหลัก คือ ภาครัฐมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน ที่ไม่เป็นพันธสัญญาผูกขาดเนื่องจากสายพันธุ์ต้นอยู่กับภาครัฐ ส่วนพันธสัญญาอย่างเป็นธรรมจะมีการสร้างระบบในรูปแบบที่เกษตรกรมีความพร้อม สามารถขายในท้องถิ่นหรือตลาดของตนเองได้เมื่อถึงเทศกาลที่ไก่ขายได้ราคาดี จากนั้นด้วยระบบดิจิตอลยุคใหม่สามารถให้บริษัทฯ ตรวจสอบได้เพื่อดำเนินการวางแผนการขาย การชำระแหละไก่ และเพื่อรองรับในเชิงการตลาด การทำพันธสัญญาในรูปแบบนี้เป็นการศึกษาร่วมกันจากการลงทุนฝ่ายละ 20 ล้าน รวมมูลลค่า 40 ล้านบาท โดยคาดว่าจะผลิตไก่บ้านพื้นเมืองลูกผสมได้อาทิตย์ละถึง 20,000 ตัวและใน 1 ปี จะกระจายได้ถึง 1,000,000 ตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรมีรายได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน และมีผลผลิตที่ขายในท้องถิ่นรวมถึงส่งออกได้ ทั้งนี้ เกษตรกรยังมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคได้มีอาหารเพื่อสุขภาพบริโภคอีกด้วย
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ และ นายรัฐพล หงสไกร
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313