กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน “พลังงาน-คมนาคม-วิทยาศาสตร์ฯ” หนุน SETA 2016 ชี้ช่วยผลักดันการพัฒนาพลังงานสู่ความยั่งยืน

“พลังงาน-คมนาคม-วิทยาศาสตร์ฯ” หนุน SETA 2016 ชี้ช่วยผลักดันการพัฒนาพลังงานสู่ความยั่งยืน

พิมพ์ PDF

          18  มีนาคม 2558 3 อาคารเอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ บี กระทรวงพลังงาน / 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ พลังงาน คมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และ หน่วยงานภาคเอกชน ประสานความร่วมมือสู่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน หวังงาน SETA 2016 ที่จัดขึ้น   ครั้งแรกในประเทศไทย เปิดประตูสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด มุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

          นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการใช้พลังงานของประเทศที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานได้ดําเนินการจัดทําแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว พ.ศ.2558 – 2579 หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint - TIEB เพื่อสร้างสมดุลทางด้านพลังงาน คือให้มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ให้มีราคา ค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ให้ความสําคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยสอดคล้องกับกระแสของโลก ที่มุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ํา ภายหลังการประชุม COP 21 ที่ผู้นําแต่ละประเทศแสดงเจตจํานงที่จะดําเนินการตามข้อตกลงปารีสในการลดการปล่อยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ นายอารีพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ประจําปี 2559 หรือ SETA 2016 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 - 25 มีนาคม 2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ดําเนินการจัดการให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น จะเป็นโอกาส สําคัญ ที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดด้านแผนพลังงานให้ตัวแทนของหน่วยงานจากต่างประเทศ ทั้งที่มาจากภาคนโยบาย ภาคของผู้ผลิตพลังงาน และภาคของผู้ใช้พลังงาน ได้เข้าใจถึงแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 5 แผนได้แก่ แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) แผนบริหารจัดการนน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2015) และแผนบริหาร จัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ที่สอดคล้องกับสภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย และมุ่งสู่สังคม คาร์บอนต่ำ สําหรับด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อย CO2 ลงจากปัจจุบัน 37% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับการดําเนินการตามปกติ “กระทรวงพลังงานได้ดําเนินการตามแผนปฏิบัติการพลังงานโดยในปี 2559-2560 ให้ความสําคัญกับ การส่งเสริมพลังงานทดแทนและด้านการอนุรักษ์พลังงาน การเริ่มดําเนินตามแผนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เตรียม รองรับการประมาณการเติบโตด้านยานยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะมีจํานวนรถยนต์ไฟฟ้าราว 1.2 ล้านคัน ในปีพ.ศ.2579 การดําเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City) รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยจัดระบบให้เหมาะสมตามศักยภาพ ของแต่ละภูมิภาค SETA 2016 ถือเป็นการเปิดประตูแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเปิดต้อนรับนักลงทุน ต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนด้านพลังงานและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ พลังงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีด้าน พลังงานที่ทันสมัย และนวัตกรรมทางพลังงานที่จะนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย” นายอารีพงศ์กล่าว

          ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภาคการขนส่ง ถือเป็นภาคที่มีความสําคัญ ต่อการใช้พลังงาน โดยเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ยังคงเป็นน้ํามัน แต่ในอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์กําลังมุ่งไปสู่ ยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากท่อไอเสีย ดังนั้น หากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มาสู่ยานยนต์ที่ไม่ใช้น้ํามัน การวางแผนการผลิตไฟฟ้าจะต้องมีความ ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ซึ่งในงาน SETA 2016 จะได้มีการอภิปรายถึงความสําคัญของทิศทาง ของการใช้เชื้อเพลิงในการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพลังงานชีวภาพ ซึ่งสามารถนํามาใช้เป็นทางเลือกของระบบขนส่ง ในอนาคตมากกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงจะมีการสัมมนาในหัวข้อ “เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย”     

 

          ทั้ง่นี้ในส่วนของ นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตระหนักและให้ความสําคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน อาทิ เช่น การวิจัยพลังงานเพื่อทดแทนน้ำมัน จะเน้น การวิจัยเรื่องการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล การวิจัยพลังงานเพื่อทดแทนไฟฟ้า/ความร้อน จะเน้นเรื่องพลังงานจาก ขยะ ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล รวมถึงการวิจัยเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์จากลม และจากพลังงานน้ำ ตลอดจน พลังงานรูปแบบใหม่แนวโน้มในอนาคตที่จะวิจัยเพิ่มมากขึ้นคือเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า สําหรับงานวิจัยและนวัตกรรมที่นํามาแสดงในงาน SETA 2016 นั้นจะเน้นที่งานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน ทดแทน อาทิเช่น นวัตกรรมการผลิตน้ํามันชีวภาพจากการเพาะเลี้ยงสาหร่าย นวัตกรรมเทคโนโลยีสําหรับการเพิ่ม คุณภาพไบโอดีเซล (H-FAME) และการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอนแบบรอยต่อเฮเทอโร เป็นต้น

          นอกจากนี้ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แนวทางการวางแผนเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน ภายใต้แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558- 2579 หรือ PDP 2015 มุ่งเน้นการสร้างสมดุลพลังงานด้วยการลดความเสี่ยงการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดมาก เกินไป โดยดูแลต้นทุนและสิ่งแวดล้อมคู่กันไป กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าโดยมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมี ประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ให้ความสําคัญกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียนควบคู่ไปด้วยโดยตามแผน PDP 2015 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนรวมประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว กฟผ. มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 นอกจากนี้กฟผ. ยังร่วมตอบสนองยุทธศาสตร์ภาคสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศที่ กฟผ. ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมาย จะลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 จากระดับที่คาดว่าประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 จํานวน 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ไทยจะต้องลดการปล่อยลงให้ได้ 111-139 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573 โดย กฟผ. ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ด้วยการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุการปรับปรุงประสิทธิภาพ การผลิตไฟฟ้า โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การประหยัดพลังงานด้วยโครงการการจัดการ ด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) รวมถึงดําเนินโครงการปลูกป่า กฟผ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วย ดูดซับก๊าซเรือนกระจก และล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 7 แห่ง ได้รับมอบใบรับรอง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และ ISO 14064-1 เพื่อให้เกิดกําหนดแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเห็นผลต่อไป ในงาน SETA 2016 นี้นอกจาก กฟผ. จะเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานแล้ว ยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ของ กฟผ. ผ่านการบรรยายและเสวนาทางวิชาการและเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ อาทิการ เชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง กฟผ. มีความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน ภายใต้โครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า “อาเซียน พาวเวอร์กริด” (ASEAN POWER GRID: APG), เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด, นวัตกรรม LED และการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถรับทราบข้อมูล และสอบถาม ข้อสงสัยกับผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ. ที่บูธนิทรรศการของ กฟผ. ได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า อย่างยั่งยืนของไทย ที่มุ่งสร้างความสมดุลของเชื้อเพลิง การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชีย ของประเทศไทยในอนาคต

          โดย รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดําเนินงานโครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 หรือ SETA 2016 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการจัดการประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ประจําปี 2559 หรือ SETA 2016 ระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค. 2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ นั้น จะได้ รวบรวมเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านพลังงานที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาไว้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังผลการวิจัยและกรณีศึกษาต่าง ๆ ผ่านการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ ต่าง ๆ กว่า 100 หัวข้อใน 4 ประเด็นหลักที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายและแผนพลังงาน ด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ที่ทันสมัย พลังงานทางเลือกเพื่อการคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการบรรยายด้านแผนนโยบายพลังงานจากหลายประเทศ มีการแสดงเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ทั้งนิวเคลียร์และเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดโดยเฉพาะในประเด็นของนิวเคลียร์ จะมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมา แบ่งปันประสบการณ์การดําเนินการ กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ และแนวทางการป้องกันสําหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในอนาคต ซึ่งญี่ปุ่นเองยังมีความจําเป็นที่จะต้องเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้เรียนรู้ว่าญี่ปุ่น จะวางมาตรการเรื่องของความปลอดภัยอย่างไร ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้บริหารระดับสูงและผู้มีบทบาทในการกําหนดนโยบายด้านพลังงานกว่า 300 คนจาก 15 ประเทศเข้าร่วมการประชุม และผู้เข้าร่วมงานโดยรวมกว่า 2,500 คนตลอด 3 วันในการจัดงานซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้ เห็นถึงโอกาสของการลงทุนด้านพลังงานในประเทศไทย รวมทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินชั้นนําของโลก คาดว่าจะมีการพบปะระหว่างคู่ค้า และการจับคู่ทางธุรกิจกว่า 300 รายการ

 

ข้อมูลข่าวโดย: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กระทรวงพลังงาน

เผยแพร่โดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834

e-mail :  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป