17 มีนาคม 2559 ที่เชียงใหม่/ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก Association of University Technology Managers, Asia 2016 (AUTM Asia 2016) จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) และสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นกลไลผลักดันในการนำผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีวิทยากรจากทั่วโลกและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 18 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัดเชียงใหม่
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การประชุมด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเชีย (AUTM Asia 2016) เป็นการประชุมที่สำคัญมาก เนื่องจากการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาด จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในมิติของการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายคุ้มครอง การจับคู่และเจรจาระหว่างภาคเอกชนกับเจ้าของผลงาน การให้สิทธิการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริหารจัดการเทคโนโลยี
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรทั้งนักวิจัยและนักพัฒนานวัตกรรม นักถ่ายทอดเทคโนโลยี และผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือผลงานวิจัย ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งเหมาะกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เพราะรัฐบาลได้ให้สิทธิกับภาคเอกชนในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาด ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดสำหรับกิจการที่ทำการวิจัยนวัตกรรม โดยกระทรวงสายเศรษฐกิจได้จัดมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีตั้งแต่การสนับสนุนด้านแหล่งทุน ด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาด รวมถึงมาตรการสนับสนุนกำลังคนผ่านโปรแกรมทาเลนท์โมบิลิตี้ และหน่วยงานหลักที่สำคัญอีกหนึ่งหน่วยงานคือ มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาซึ่งมีองค์ความรู้ มีผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก สถาบันเหล่านี้จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกการเชื่อมโยงความรู้และผลงานออกสู่ตลาดโดยเร็ว และไกลถึง "การสร้างชาติ” ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานประชุมนานาชาติ AUTM Asia 2016 กล่าวว่า การจัดงานประชุมนานาชาติ AUTM Asia จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 และการจัดงานดังกล่าวเป็นการจัดประชุมวิชาการด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษารวม 9 แห่ง เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงนักวิชาชีพ การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยรวบรวมองค์ความรู้มากมายจากมุมมองของวิทยากรในระดับนานาชาติทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากหลากหลายประเทศทั่วโลกกว่า 350 คน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมและกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เน้นการส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยไปต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม งานประชุมดังกล่าวได้มีหัวข้อที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการและนักวิจัย ตลอดจนกลุ่มนักถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผู้ที่สนใจประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องในหัวข้อต่างๆ มากมาย อาทิ การต่อยอดนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ การเจรจาต่อรองด้านเทคนิค กรณีศึกษาของบริษัทเกิดใหม่ (Start Up) ที่ประสบความสำเร็จโดยการนำเอาองค์ความรู้ไปเพิ่มมูลค่า นวัตกรรมรองรับสังคมผู้สูงอายุ นวัตกรรมการเกษตร และนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand