|
บ่ายวันนี้ (17 มีนาคม 2559) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้เข้าไปสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำ และทำงานร่วมกับชุมชน แก้ไขปัญหาดิน น้ำ ป่า จนประสบความสำเร็จ สามารถขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาว 41 ชุมชน ใน 4 ตำบล
นายอินแหลง ไทยกรณ์ ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว กล่าวว่า ในอดีตชุมชนพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาว ประสบปัญหานายทุนเข้าสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก ตัดต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก ทำให้สายน้ำแม่โถซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ลาวแดงขุ่น ไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ชุมชนจึงรวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนรักษ์ป่า” เมื่อปี 2548 เพื่อร่วมกันหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ลาว ต่อมาในปี 2550 ได้ขยายเครือข่ายเป็น 10 หมู่บ้าน พัฒนาเป็น “เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว”
ดร. พิเชฐฯ กล่าวว่า ในปี 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สสนก. ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ให้ข้อมูล ความรู้ ถ่ายทอดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินงานจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยชุมชนร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สำรวจและเก็บข้อมูล รวมทั้งจัดทำแผนที่เครือข่ายทั้งหมด จนกระทั่งในปี 2555 ชุมชนสามารถขอคืนพื้นที่ทำกิน 20% ที่ติดกับป่า ได้พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมากว่า 2,000 ไร่ นอกจากนั้นชุมชนยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและไฟป่าในปีนี้อีกด้วย นับเป็นชุมชนต้นแบบของการน้อมนำแนวพระราชดำริ ร่วมกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า แก้ปัญหาในพื้นที่ได้สำเร็จ และสามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่นได้ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีชุมชนต้นแบบในลักษณะเดียวกันนี้อยู่ 60 ชุมชน และขยายผลสำเร็จไปได้แล้วกว่า 600 หมู่บ้าน
ปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ได้ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาวอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาวทั้งหมดกว่า 258,000 ไร่ ใน 41 ชุมชน 4 ตำบล ของอำเภอเวียงป่าเป้า รวมเส้นทางน้ำ 291 ลำห้วย เกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยมีตัวอย่างผลสำเร็จ ได้แก่ การสร้างฝายภูมิปัญญาพื้นที่ต้นน้ำเครือข่าย ช่วยชะลอความชุ่มชื้นและดักตะกอนกว่า 2,500 ฝาย เชื่อมต่อแนวกันไฟป่าต้นน้ำทั้งเครือข่าย ระยะทางรวม 103 กิโลเมตร เกิดหน่วยเฝ้าระวังภัยพิบัติเครือข่าย โดยใช้ประโยชน์ของข้อมูลจากสถานี
โทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติและเครือข่ายวิทยุสื่อสาร เพื่อประสานและแจ้งเตือนภัยพิบัติ และยังมีกลุ่มเยาวชน “ละอ่อนฮักน้ำลาว” ร่วมช่วยงานเครือข่ายฯ ด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า
นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้เสริมป่า ทำให้ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เมื่อแหล่งน้ำต้นทุนดี จึงจัดทำระบบสำรองน้ำ ระบบกระจายและกรองน้ำ ได้น้ำคุณภาพดีให้ทุกครัวเรือนใช้ จำนวน 14 ชุมชน ผู้รับประโยชน์ 881 ครัวเรือน รวม 2,740 คน และยังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นรูปแบบ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชน เกิดตัวอย่างเรื่องการลดรายจ่ายและสร้างรายได้เสริมตลอดปี เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ให้กับชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเกิดเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้แนวทางบริหารจัดการน้ำ และนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
โทร. 02 642 7132
เว็บไซต์ www.haii.or.th
ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313