การติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อการบริหารจัดการควบคุมและลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานเชิงรุกในการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายจากดาวเทียมและ GIS ในการจัดทำข้อมูล รายงาน และแผนที่ อาทิ แผนที่จุดความร้อน (Hot Spot) แผนที่แสดงไฟป่าและคาดการณ์กลุ่มหมอกควัน รวมถึงแผนที่พื้นถูกเผา (Burn scar) ให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้บรรเทาและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน อย่างต่อเนื่อง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
17 มีนาคม 2559 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วท. พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ วท. ลงพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ “สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันปีนี้ GISTDA ยังร่วมสนับสนุนการทำงาน โดยส่งนักวิชาการและฐานข้อมูลประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับจังหวัด (war room) 9 จังหวัดภาคเหนือที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะยา ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ตลอดช่วงเดือนมกราคม – เมษายน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดย GISTDA ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าจากการใช้แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นมาคาดการณ์ไฟป่าล่วงหน้า โดยดูจากความชื้นของดิน ลักษณะของใบไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ และสถิติย้อนหลัง ทำให้เราสามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าได้ล่วงหน้าถึง 7 วัน โดยทำแผนที่คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงจะเกิดไฟป่าไว้ 3 ระดับ คือ เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย และไม่เสี่ยงเลย นอกจากนี้ ข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA ยังสามารถตรวจสอบจุดความร้อน (ฮอตสปอต) ซึ่งจะทำให้ทราบว่าจุดความร้อนในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน มีแนวโน้มที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการวิเคราะห์พื้นที่เผาใหม่ (Burnt scar) เพื่อนำไปประเมินพื้นที่การเกษตรรอการเผา และพื้นที่ป่าที่ยังไม่ได้เผาไหม้ ในระดับตำบลอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้อาศัยข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เราทราบว่าบริเวณใดยังเหลือเชื้อเพลิงในผืนป่าและในแปลงเกษตรกรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำไปใช้ตรวจสอบในพื้นที่จริงอีกครั้ง” ดร.พิเชฐ กล่าว
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ด้าน ดร.เชาวลิต ศิลปะทอง รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริและหมู่บ้านโดยรอบ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาไฟป่ามาก่อน แต่ด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลที่มีความทันสมัยบวกกับการวางแผนการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทำให้การบริหารจัดการควบคุมไฟป่ามีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด จากที่อดีตเมื่อหลาย 10 ปีก่อน เคยเกิดไฟป่าในพื้นที่ศูนย์ฯ สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ศูนย์ฯลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตามแผนงาน ผลที่ตามมาคือเกิดความหลากหลายของพืชพรรณอาหารธรรมชาติที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อการพึ่งพา และเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ชุมชนโดยรอบสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ข้อมูลโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ GISTDA
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) (สทอภ.)
โทร. 02-141-4444
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313