กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ปลัด ก.วิทย์เชิญหน่วยงานสังกัดหารือแนวทางการใช้ วทน. สนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งและไฟป่า

ปลัด ก.วิทย์เชิญหน่วยงานสังกัดหารือแนวทางการใช้ วทน. สนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งและไฟป่า

พิมพ์ PDF

 

           16 มีนาคม 2559 สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในการดำเนินงานเพื่อใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งและไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเร่งด่วน

         รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องการบูรณาการข้อมูลการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานทุกส่วนราชการเพื่อขอข้อมูลแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2559 โดยขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งข้อมูลรายการการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้ กษ. ทุกวันพุธ พร้อมมอบหมายผู้ประสานงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในส่วนของ วท.ได้มอบหมายผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เป็นผู้ประสานงาน  พร้อมทั้งได้แจ้งให้ สทอภ.  สสนก. และหน่วยงานในสังกัด วท.จัดส่งข้อมูลแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อดำเนินการรวบรวมและนำส่งให้ กษ. ตามกำหนด

          ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยต่อว่า วท.ได้ส่งรายงานข้อมูลการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ให้ กษ. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย 5 แผนงาน/โครงการ/กิจกรรม โดยมีโครงการที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในมาตรการที่ 8 มาตรการอื่นๆ มอบหมายให้ สทอภ. รับผิดชอบ 2 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ยืนต้นและชุมชนที่ขาดแคลนน้ำในจังหวัดภาคตะวันออกโดยมีเป้าหมายจัดทำแผนการปรับปรุงข้อมูลแห่งน้ำในบริเวณพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งขณะนี้ได้สนับสนุนภูมิสารสนเทศเพื่อการวางแผนบริหารจัดการเกษตรและน้ำที่จังหวัดนครนายกและ โครงการระบบแผนที่และภูมิสารสนเทศเพื่อการบูรณาการติดามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะจัดทำระบบติดตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 1 ระบบ และอีก 3 โครงการที่ วท. รายงาน ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่พืชใช้น้ำน้อย/เพิ่มผลผลิตถั่วเขียว โดย สวทช. ซึ่งจะทำงานร่วมกับเครือข่ายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวและการผลิตถั่วเขียวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมการแปรรูป ประกอบด้วยพันธุ์ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพันธุ์ถั่วเขียวชัยนาท 84-1 ของกรมวิชาการเกษตรโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (สวทช.)โดยจะเป็นการแนะนำการปลูกพืชทดแทนในพื้นที่ปลูกข้าว 16 จังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวม วิเคราะห์ความต้องการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร และออกแบบโครงสร้างการจัดเก็บข้อมูล และ โครงการสนับสนุนข้อมูลเพื่อประกอบการบริหารจัดการน้ำ (สสนก.) ประกอบด้วยการสรุปสถานการณ์น้ำประจำวัน และรายงานวิเคราะห์ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) โดยรายงานข้อมูลส่งให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) เป็นประจำทุกวันภายในเวลา 12.00 น. นอกจากนี้ สสนก. ยังให้บริการระบบติดตามภัยแล้งออนไลน์ทางเว็บไซต์ http://drought.thaiwater.net และส่งข้อมูลสถานการณ์แหล่งน้ำดิบของชุมชนเครือข่าย จำนวน 56 ชุมชนให้เลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกวันศุกร์
 
          นอกจากนี้ ผู้แทน สทอภ. ได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมในที่ประชุมเกี่ยวกับการใช้ วทน. สนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งและไฟป่าใน 2 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาภัยแล้ง สทอภ. ได้จัดทำแผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวนาปรังรายสัปดาห์  แผนที่ติดตามสถานการณ์ข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กจากภาพถ่ายดาวเทียมรายสัปดาห์ การปฏิบัติงานประจำร่วมกับคณะทำงาน ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ ปี 2558-2559 การจัดทำระบบติดตามแผนงานโครงการ (Web Map Based) ภายใต้ 8 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ (rice.gistda.or.th) ทั้งนี้ สทอภ. ส่งข้อมูลให้กับศูนย์อำนวยการภัยแล้งและไฟป่า กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ

          การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน สทอภ. จัดทำแผนที่จุดความร้อน (Hot Spot) แสดงออนไลน์บนเว็บไซต์ 4 รอบต่อวัน หรือทุกๆ 6 ชั่วโมง จัดทำแผนที่แสดงไฟป่าและคาดการณ์กลุ่มหมอกควันรายวัน  แผนที่พื้นถูกเผา (Burn scar)รายสองสัปดาห์ ข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ (fire.gistda.or.th) เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ใน War room ของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย มท. และกรมควบคุมมลพิษ ทส.ทุกสัปดาห์ ตลอดจนส่งเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติการประจำศูนย์ไฟป่าหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือปี 2559

          ในการประชุมหารือดังกล่าว ปลัดฯ วีระพงษ์ ได้ฝากให้หน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด วท. ช่วยพิจารณาข้อมูลโครงการ/กิจกรรม/เทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ปัญหาภัยแล้งและไฟป่า โดยให้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของ วท. ที่จะเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา นั่นคือ ต้องมองไปที่องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เรามีและสามารถสนับสนุน ทั้งนี้ ให้มองไปที่เครื่องมือในการวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ และการบรรเทาเมื่อเกิดสถานการณ์แล้ว ตัวอย่าง เช่น สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เคยมีเทคโนโลยีในการวิเคราะห์แหล่งน้ำดิบ น้ำใต้ดิน จะสามารถนำมาช่วยเหลือได้หรือไม่ กมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เคยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำระดับครัวเรือนและชุมชน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีเทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำเค็ม น้ำกร่อย ใช้ในการอุปโภค ทั้งนี้ ให้รีบไปตรวจเช็คสถานภาพเทคโนโลยีดังกล่าวและอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงภัยแล้ง หรือสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งมีเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค สามารถคิดแผนงาน/โครงการ นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดซึ่งเป็นต้นตอปัญหาหมอกควัน จะสามารถแปรรูปเศษวัสดุการเกษตรดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงหรืออาหารสัตว์ เหล่านี้คือสิ่งที่อยากฝากทุกหน่วยงานไปช่วยกันคิดแผนงาน/ โครงการ/กิจกรรม ที่สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของ วท. อย่างแท้จริง และจะได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสต่อไป
 
ข่าวโดย: เทียรทอง ใจสำราญ หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข้อมูลโดย: สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :     อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
         

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป