กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สสนก. ร่วมมือ UNISDR ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พร้อมเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของไทยสู่ระดับโลก

สสนก. ร่วมมือ UNISDR ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พร้อมเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของไทยสู่ระดับโลก

พิมพ์ PDF

 

      บ่ายวันนี้ (10 มีนาคม 2559) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร. โรเบิร์ต กลาสเซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นประธานและสักขีพยานร่วม ในพิธีลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือ “การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” ระหว่าง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 2 โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร

    กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. จัดพิธีลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือ “การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” (Statement of Cooperation on Science and Technology for Disaster Risk Reduction) กับ สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office for Disaster Risk Reduction) หรือ UNISDR โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จด้านการจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และ ดร. เฟิง มิน คาน (Dr. Feng Min Kan) หัวหน้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (Head Regional Office for Asia-Pacific, UNISDR) เป็นผู้ลงนาม และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ดร. โรเบิร์ต กลาสเซอร์ (Dr. Robert Glasser) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Special Representative of the Secretary-General for Disaster Risk Reduction, UNISDR) เป็นสักขีพยานในพิธี

        การลงนามในแถลงการณ์ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 2015-2030 (The UNISDR Science and Technology Conference on the implementation of the Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) ระหว่างวันที่ 27–29 มกราคม 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกของ UNISDR เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลักดันการดำเนินงานภายใต้ Sendai Framework โดย ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเชิญเข้าร่วมการอภิปรายในพิธีเปิดการประชุม ได้นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อมูล สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมทั้งตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชนของ สสนก. ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ทาง UNISDR จึงได้ทำความร่วมมือกับ สสนก. เพื่อร่วมกันเผยแพร่ความรู้ ประสบการณ์ และตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ สสนก. จะร่วมกับ UNISDR จัดการประชุมเครือข่ายการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ในระดับภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย-แปซิฟิก (Science and Technology Network for Disaster Risk Reduction for the ASEAN and Asia-Pacific) ที่ประเทศไทย ในเดือนสิงหาคมนี้

 

        ดร. พิเชฐฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการจัดการกับภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการทำงานและการตัดสินใจบริหารจัดการภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. พัฒนาระบบเชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลน้ำและภูมิอากาศของประเทศไทย ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ในปี 2559 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนน้อยที่สุดในรอบ 34 ปี และปริมาณน้ำใช้การในเขื่อนบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหลือน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีตัวอย่างความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน ที่ สสนก. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 30 แห่ง นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม GPS ใช้สำรวจข้อมูลและวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน แก้มลิง สามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และสามารถขยายผลสำเร็จไปยังชุมชนอื่นได้ ปัจจุบันมีพื้นที่ตัวอย่างการจัดการน้ำในระดับชุมชนมากกว่า 600 ชุมชน ซึ่งพบว่ามากกว่าร้อยละ 98 ของชุมชนเหล่านี้ ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ ชุมชนยังมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคและเพาะปลูกในครัวเรือน นับเป็นตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน พร้อมที่จะร่วมกันดำเนินการขยายความสำเร็จไปยังประเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย-แปซิฟิก ต่อไป

 

       ดร. โรเบิร์ต กลาสเซอร์ กล่าวว่า UNISDR ได้จัดทำกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หรือ “กรอบเซนได” (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติ และมุ่งหวังให้แต่ละประเทศและแต่ละชุมชนสามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดจากภัยพิบัติทั้งทางด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำด้านการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานเซนได มีตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นทั่วโลกได้ เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและเหมาะสมกับชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เช่น แก้มลิง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ามาก สามารถใช้บริหารจัดการได้ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ประเทศไทยมีประสบการณ์มากมายที่พร้อมจะแบ่งปันให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

 

 

ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) 

โทร. 02 642 7132

เว็บไซต์ www.haii.or.th

 

ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834

e-mail :        อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป