กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ก.วิทย์ฯ ร่วมมือ มทส. อบจ. นครราชสีมา สร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน

ก.วิทย์ฯ ร่วมมือ มทส. อบจ. นครราชสีมา สร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน

พิมพ์ PDF

                    ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานแถลงข่าวและพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ  ต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน”  ดำเนินการพัฒนาพลังงานทดแทนในระดับชุมชน โดยการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตลอดจนการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า อันเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรในหมู่บ้าน โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) ณ ห้องราชพฤกษ์ AB ชั้น 2 โรงแรมราชพฤกษ์ แกรนด์ โฮเทล จ. นครราชสีมา  (เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552)  
                    ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  โครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ “ต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน”  เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่ต้องการผลักดันให้หมู่บ้านหรือชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อยากเห็นรูปแบบของการพัฒนาพลังงานทดแทนในระดับชุมชน โดยการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตลอดจนการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า อันเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรในหมู่บ้าน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
                    กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 30 หมู่บ้าน  แต่ที่จังหวัดนครราชสีมา นี้เป็นการใช้วิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาพลังงานทดแทน  โดยได้ประโยชน์ 3 อย่าง ได้แก่ 1. ทำให้ขยะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น  2. ได้ใช้ไฟฟ้า  3. ความร้อนสามารถนำไปใช้อบผลไม้ได้  และที่สำคัญคือ ได้พื้นที่ปลูกป่าไม้เป็นหมื่นไร่ เพื่อตัดมาทำไฟฟ้า  เชื่อว่าเมื่อทำสำเร็จแล้ว อบจ.อื่นๆ จะมาเอาไปเป็นแบบอย่าง  จะได้ประโยชน์กับหลายๆ อบจ.อย่างแน่นอน  การจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่าง 3 หน่วยงาน ในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมพันธสัญญาสำคัญลำดับแรก  เปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูเพื่อนำเข้าสู่การดำเนินกิจกรรมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาของประเทศร่วมกันอย่างเป็นทางการ

 


                    ด้าน ศ.ดร.ประสาท  สืบค้า  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  กล่าวว่า  กระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี :  ต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน  เพื่อสนับสนุให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในด้านต่าง ๆ ได้ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โครงการนี้จะเน้นให้ชุมชนสามารถผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเอง  โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในท้องถิ่น  อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานทดแทนได้  โดยใช้เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ซึ่งเป็นเทคโนโลย่ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายไม่ซับซ้อน มีความปลอดภัย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ อบจ. คือลดมลพิษ  ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด “โคราชเมืองแห่งพลังงานทดแทน” ที่เน้นการรักษาสภาพทรัพยากรสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน  โดยทั้ง 3 หน่วยได้ทำบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือในการบูรณาการและประสานงาน ให้เกิดกิจกรรมและความร่วมมือปฏิบัติงานพัฒนาด้านพลังงานทดแทน  โดยมีขอบเขตร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ดังนี้
                    กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  1. การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาชุมชนต้นแบบ  ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างงาน  สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต  2. พัฒนาสังคมในระดับชุมชนให้มีการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  3.  ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายทุกระดับ  4.  ทำหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนทั้งในระดับชุมชนและส่วนราชการต่าง ๆ 5. สนับสนุนและส่งเสริมตามแนวทางและวิธีการที่เหมาะสม  โดยมุ่งให้ชุมชนเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยแหล่งวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ 6. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องจักรด้านพลังงานทดแทน เช่น เครื่องจักรผลิตพลังงานจากชีวมวล  การผลิตไฟฟ้าด้วยระบบแก๊สซิฟิเคชั่น 
                    องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา 1.  ประสานหน่วยงานร่วมโครงการ  จัดหาสถานที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า  2. ประชาสัมพันธ์โครงการให้ทราบถึงประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย ของการดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน 3.วางแผนบริหารจัดการ การผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้จากการผลิตไฟฟ้า  4. รับมอบการถ่ายโอนโรงไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินการต่อและดูแลบำรุงรักษา โดยจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านเทคนิค 5. พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลให้เป็นต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนของจังหวัดนครราชสีมา  6. พัฒนาและขายพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแก่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  ส่งเสริมให้ประชาชน เกษตรกรปลูกป่าไม้โตเร็ว
                    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 1. ศึกษาข้อมูลทั่วไปของพื้นที่เป้าหมาย สำรวจปริมาณหรือสัดส่วนเศษวัสดุทางการเกษตร สำรวจการใช้ประโยชน์วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร  2. จัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมต่อโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล  3. ก่อสร้างและเดินระบบโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์  4. ดำเนินการส่งมอบและถ่ายโอนโรงไฟฟ้าให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง 5. จัดฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ ชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อจะนำมาเป็นชีวมวล และ 6.ประเมินสรุปผลงานภายหลังเสร็จสิ้นโครงการโดยการแสดงให้เห็นรูปธรรมว่าภายหลังจากการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในชุมชนแล้ว เกิดการสร้างงาน  สร้างเงิน สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

 

 


                    ด้าน นายแพทย์สำเริง  แหยงกระโทก  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อบจ.นครราชสีมา โดยทีมบริหารปัจจุบัน มีนโยบาย 12 ข้อ และ 1ใน 12 ข้อ ได้ประกาศอย่างชัดเจน ในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนในจังหวัดนครราชสีมา ตามแนวคิด “โคราชเมืองแห่งพลังงานทดแทน”  เพราะจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทางการเกษตรมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกมาก เช่น เหง้ามันสำปะหลัง   

 

 


เขียนข่าวโดย  :  นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  โทร. 0-2354-4466 ต่อ 118
                         โทรสาร 02-354-3763     E-Mail :  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ถ่ายภาพโดย :    นายไววิทย์  ยอดประสิทธิ์  โทร. 0-2354-4466 ต่อ 199

 

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» รมว.วิทย์ เชื่อนวัตกรรมจะช่วยศก.ไทยเปลี่ยนสู่ยุค 4.0 l 1 สิงหาคม 2559 l Smart sme
» เสาวนาแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย Thailand-Japan Human Resources Development Initiative (Timeline Suthichai )
» 5 โครงการเร่งด่วนขับเคลื่อน SME l 13 กรกฏาคม 2559 l Smart SME
» เรื่องเล่าเช้านี้ กระทรวงวิทย์ฯจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติลาว
» ก.วิทย์ฯ โดย สวทช. จับมือ สกว. และสถานทูตอังกฤษ เปิดเวทีให้นักวิจัยก้าวสู่โลกธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนในภูมิภาค
» ก.วิทย์ฯ จับมือ ก.ศึกษาฯ ผุดชุดซอฟต์แวร์ ช่วยการเขียน เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ทั่วประเทศ
» วว.เชิญชวนเยาวชนส่งผลงานเข้าประกวดโครงการโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมสีเขียว
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป