ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) ครั้งที่ 1/2552 มีคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมหารือแนวทางการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างเงิน ในเบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ตั้งบริษัทซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าของขึ้นมาศึกษางานวิจัย เพื่อคัดเลือกและผลักดันสู่ภาคธุรกิจ และแต่งตั้ง ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย เป็นโฆษก กรอ.วท. (เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552)
ผลการประชุม กรอ.วท. ครั้งที่ 1 ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาโอกาสในการนำผลงานวิจัยเหล่านั้นไปดำเนินการในเชิงธุรกิจ โดยบริษัทที่จัดตั้งขึ้นนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือภาครัฐจะต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นตัวอย่างในการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ภาคการผลิตในเชิงธุรกิจ เป็นต้นแบบให้กับภาคเอกชน และใช้กลไกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการช่วยธุรกิจ SMEs ในการลดต้นทุน และสร้างผลกำไร อาทิ เครือข่าย iTAP ซึ่งมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศในทุกภาค 9 แห่ง และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่หลากหลาย ได้แก่ สิ่งทอ อาหารและเกษตร ไม้และเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ (พลาสติก โลหะ ยาง เคมี) พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซอฟต์แวร์ การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุม กรอ.วท. ได้มีมติแต่งตั้งให้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย เป็นโฆษก กรอ.วท. อีกด้วย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มีนโยบายว่าด้วยการ “สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต” ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงฯ กับภาคเอกชน ทั้งในรูปของการสนับสนุนทางการเงิน การร่วมวิจัยโดยมีอุปสงค์ของตลาดเป็นตัวตั้ง การผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้อนให้อุตสาหกรรม การเชื่อมโยงบริษัทไทยกับหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการสร้างต้นแบบเพื่อนไปสู่การประยุกต์เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างในกลไกการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนกับกระทรวงฯ และหน่วยงานภายในกระทรวงฯ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานเอกชน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำเสนอเรี่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 เพื่อเป็นกลไกการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชน กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงอื่นๆ เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคบริการ และภาคการเกษตร โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยในการแข่งขัน ลดการนำเข้า ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในภาคส่วนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ นำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศ และขยายผลทางเศรษฐกิจในมิติใหม่ เช่น การใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
เขียนข่าวโดย : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 02 354 4466 ต่อ 118